บทความสั้น
เกิดอะไรขึ้น? เมื่อประเทศไทย เข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์”
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | กรกฎาคม 2566

รู้หรือไม่ ? ในปี 2565 สัดส่วนผู้สูงอายุของไทย ได้เพิ่มเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ทำให้สังคมไทยเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” และในปี 2583 หรืออีกไม่ถึงยี่สิบปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุของไทย จะเพิ่มเป็น 20.5 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 31 ของประชากรทั้งหมด การเตรียมการเข้าสู่สังคมสูงอายุในทุกระดับ ทั้งระดับบุคคล ชุมชน สังคม และประเทศ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด

ประเทศไทยนิยาม “ผู้สูงอายุ” ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 3 ว่า คือ บุคคลซึ่งมีอายุเกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ มีนิยามผู้สูงอายุ โดยกำหนดอายุที่ 65 ปีขึ้นไป) การเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทย ได้ส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสรุป ได้ ดังนี้

“ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ” สังคมสูงอายุทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่สัดส่วนวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ อีกทั้งค่าจ้างแรงงาน และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงในระยะยาว ทำให้ประเทศไทยอาจจะต้องนำเข้าแรงงานเพิ่มขึ้น

“ผลกระทบทางด้านสังคม” ทำให้อัตราการพึ่งพิงสูง ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานต้องทำงานหนัก เพื่อหารายได้มาดูแลผู้สูงอายุ และจ่ายภาษีในอัตราที่สูงขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณมากขึ้น จากภาระด้านสวัสดิการสังคมที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว หรืออาจถูกทอดทิ้งได้ และส่งผลต่อสภาพจิตใจได้

“ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย” รู้หรือไม่ ? ร้อยละ 5 ของผู้สูงวัย เคยหกล้มภายในบ้าน ร้อยละ 3 เป็นผู้สูงวัยติดบ้าน และติดเตียง และ ร้อยละ 1 เป็นผู้สูงวัยที่ครองโสดและอาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว มิติสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัย จึงมีความสำคัญต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก

“ผลกระทบด้านสุขภาพ” ปัญหาสุขภาพหลักของผู้สูงอายุ คือ ภาวะที่เกิดจากโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของอวัยวะรับสัมผัส เช่น การสูญเสียการมองเห็นและการได้ยิน และความผิดปกติของระบบประสาท จึงต้องมุ่งเน้นให้ประชากรสามารถช่วยเหลือดูแลตนเองในยามสูงวัยให้ยาวนานที่สุด ตลอดจนการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ และลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพต่าง ๆ เนื่องจากการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง มีค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณสูงมาก

ยังมีอีกหลายบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” ตามมาอ่านต่อได้ที่ “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566” หมวด 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ โดยสามารถอ่านแบบออนไลน์ได้แล้ววันนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com


ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ ‘สุขภาพคนไทย’
ได้ที่ www.thaihealthreport.com
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport (30วิ สุขภาพคนไทย)

ปรับปรุงเนื้อหา จาก หมวด 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ( หน้าที่ 80 - 81 )

    

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333