บทความสั้น
ปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเรา และเพื่อโลก
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | พฤษภาคม 2566

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จากภาวะ “โลกรวน” เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องร่วมกันแก้ไขโดยเร็วที่สุด “การปลูกป่า และเพิ่มพื้นที่สีเขียว” เป็นการดำเนินงานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่หลายภาคส่วนในประเทศไทยกำลังเร่งดำเนินการ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

“พื้นที่สีเขียว” มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้นไม้ช่วยผลิตก๊าซออกซิเจน และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แตกต่างกัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9 – 15 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

รัฐบาลได้มีการออกเป็นนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้มี “การเพิ่มพื้นที่สีเขียว” ทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี 2580 โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินนโยบายดังกล่าว และมีหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุน อาทิ ปตท. , กฟผ. , เอสซีจี , ซีพีเอฟ เป็นต้น

 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าหมายปลูกป่าเพิ่มเติม 2 ล้านไร่ โดย ปตท. จะดำเนินการเอง 1 ล้านไร่ และความร่วมมือกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) กฟผ. ตั้งเป้าในการปลูกป่าให้ได้ล้านไร่ภายในปี 2574 ร่วมกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นอกจากนี้ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ก็ได้มีโครงการปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “ปลูกด้วยรักษ์ พิทักษ์โลก” ดำเนินการปลูกต้นไม้ 150,000 ต้นตลอดปี 2564 โครงการ “ปลูก ลด ร้อน” เพื่อรณรงค์การปลูกต้นไม้ให้ได้ 3 ล้านไร่ และปลูกป่าโกงกาง 3 หมื่นไร่ ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050)

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ก็ได้ดำเนินโครงการ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” มาตั้งแต่ปี 2557 (ค.ศ.2014) โดยร่วมมือกับทั้งภาครัฐและชุมชน อนุรักษ์ป่าชายเลนรวม 500 ไร่ และปลูกใหม่เพิ่มเติมระหว่างปี 2562 – 2566 (ค.ศ.2019 – 2023) รวม 104 ไร่ รวมทั้งจะปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการให้ครอบคลุมพื้นที่ 20,000 ไร่ ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030)

ยังมีอีกหลายบทความที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ “คำสัญญาของไทยในคอป กับ การรับมือโลกรวน”ตามมาอ่านต่อได้ที่ “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566” หมวด เรื่องพิเศษประจำฉบับ สามารถอ่านออนไลน์ได้แล้ววันนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com


หมายเหตุ: ปรับปรุงเนื้อหาจาก เล่มรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 หมวด เรื่องพิเศษประจำฉบับ (หน้าที่ 122)

ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ ‘สุขภาพคนไทย’
ได้ที่ www.thaihealthreport.com
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333