บทความสั้น
รู้เท่าทัน Heat Stroke โรคร้าย… ทำลายคนที่คุณรัก
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | เมษายน 2566

ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงฤดูร้อนของทุกปี สิ่งหนึ่งที่เราควรจะต้องเฝ้าระวังก็คือ การเกิด “โรคลมแดด” หรือว่าโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) อีกหนึ่งภัยเงียบที่อันตรายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเปราะบาง ผู้ที่มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ หรือผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน เพราะถ้าหากวินิจฉัยช้า หรือรักษาได้ไม่ทัน อาจทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2566 ยาวไปจนถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2566 โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้ สภาพอากาศจะร้อนกว่าปีที่แล้ว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนรู้สึกว่าอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ นำมาซึ่งการเกิด “โรคลมแดด” หรือว่าโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke)

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่ปี 2557-2559 มีรายงานผู้ป่วยโรคลมแดด ประมาณ 2,500 – 3,000 รายต่อปี สถิติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปี ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีกิจกรรมกลางแจ้ง โดยอาชีพที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ เกษตรกรรม รับจ้าง ทหาร เป็นต้น

โรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) มีสาเหตุมาจากความร้อน เนื่องจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ปรับอุณหภูมิได้ไม่ทัน ซึ่งมีที่มาจากการเกิดความร้อน 2 แหล่ง คือ 1) ความร้อนจากภายนอก เช่น แสงแดด หรือสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูง 2) ความร้อนจากภายใน หรือความร้อนภายในร่างกายที่เกิดจากการเผาผลาญ ทำให้เกิดความร้อนภายในร่างกาย เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส รวมถึงขาดน้ำและเกลือแร่ร่วมด้วยเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดโรคลมแดดได้ 

สัญญาณสำคัญของโรคนี้ คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้น ต่างจากการเพลียแดดทั่วไปที่จะมีเหงื่อออกด้วย ผู้ที่เป็นโรคลมแดดจะกระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย เมื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด หายใจเร็ว และอาจรุนแรงถึงขั้นเพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ตับหรือไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้ช็อก หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

กลุ่มเสี่ยงโรคลมแดด ได้แก่ 1) เด็ก และผู้สูงอายุ 2) ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หรือโรคผิวหนังบางชนิดที่ระบายเหงื่อได้ไม่ดี เป็นต้น 3) กลุ่มผู้ที่ทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น 4) ผู้ที่มีอาการไม่สบายอยู่ก่อน เช่น ท้องเสีย ถ่ายเหลว หรือคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งขาดน้ำอยู่ก่อนแล้ว 5) ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ

“วิธีป้องกันการเกิดโรคลมแดด” ให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดนาน ๆ โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ หากจำเป็น ควรสวมหมวก หรือกางร่ม เพื่อป้องกันอันตรายจากแสงแดด พักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอ สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป และระบายอากาศได้ดี “วิธีการดูแลผู้ป่วยโรคลมแดด” เมื่อพบเจอผู้ป่วยโรคลมแดด ควรย้ายผู้ป่วยเข้าในร่ม หรือสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ห้ามคนทั่วไปมามุง หากเสื้อผ้าระบายอากาศได้ไม่ดี ให้ปลดออกเล็กน้อย นำผ้าชุบน้ำธรรมดา หรือน้ำเย็นมาเช็ดตัว ตามแขน ขา ข้อพับ ซอกคอ ข้อแขนต่าง ๆ ถ้ารู้สึกตัวดี ให้ดื่มน้ำได้ แต่ถ้าหากไม่รู้สึกตัว อย่าเพิ่งให้ดื่ม เพราะอาจจะสำลัก และอาจทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อได้ หากอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง ให้โทรเรียกรถพยาบาลทันที


แหล่งอ้างอิง : 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333