บทความสั้น
รู้ไว้ก่อนเดินทาง… ดื่มแล้วขับ กับ อุบัติเหตุบนท้องถนน !!
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | เมษายน 2566

เดินทางมาถึงกับอีกหนึ่งช่วงเทศกาลสำคัญของคนไทย กับ “เทศกาลสงกรานต์” ช่วงเวลาแห่งความสุขที่หลายคนจะได้หยุดพักผ่อน ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทำบุญวันขึ้นปีใหม่ไทย สรงน้ำพระ ออกไปท่องเที่ยว หรือเดินทางกลับบ้านที่ภูมิลำเนา โดยในปีนี้วันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีมากถึง 5 วัน ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน 2566 ยาวไปจนถึงวันจันทร์ที่ 17 เมษายน 2566

ภายใต้รอยยิ้มแห่งความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รู้หรือไม่ว่า ในขณะเดียวกัน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนในช่วงเทศกาลดังกล่าว กลับมี “แนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” จากข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ระบุว่าในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 11 – 17 เมษายน 2565 พบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมด 1,917 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 1,869 คน และมีผู้เสียชีวิต 278 ราย

จังหวัดเชียงรายเกิดอุบัติเหตุสูงสุด  66 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ 63 คน และจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 13 ราย ทั้งนี้ “รถจักรยานยนต์” คือยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด อยู่ที่ 82% รถกระบะ อยู่ที่ 7% และรถยนต์ส่วนบุคคล  อยู่ที่ 3% โดยสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ การขับรถเร็ว 37% ดื่มแล้วขับ 27% และการตัดหน้ากระชั้นชิด 18%

จะเห็นได้ชัดว่า “การดื่มแล้วขับ” ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แม้ว่า “การตั้งด่านตรวจ” และ “การบังคับใช้กฎหมาย” ของภาครัฐ ดูเหมือนจะเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยยับยั้งขนาดของปัญหาดื่มแล้วขับได้ แต่ผลสำรวจความเห็นของประชาชน โดย จส100 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กลับสวนทางกับความรับรู้ของประชาชน โดยพบว่าร้อยละ 69 ไม่เคยพบเห็นด่านตรวจ ร้อยละ 94 ไม่เคยถูกเรียกตรวจแอลกอฮอล์ที่ด่าน และร้อยละ 35 ไม่ทราบว่าผู้ขับขี่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มีระดับแอลกอฮอล์เกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าผิดกฎหมาย

ประเทศไทยได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขกฎหมายเพื่อควบคุมสถานการณ์เมาแล้วขับในช่วงตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เพื่ออุดช่องว่างและยกระดับการป้องปรามพฤติกรรมการดื่มแล้วขับของผู้ขับขี่ยานพาหนะ ทั้งการกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจ การปรับโทษหากปฏิเสธการตรวจวัดแอลกอฮอล์ และการกำหนดเงื่อนไขในประกันภาคสมัครใจ เป็นต้น

การสื่อสาร และมาตรการของรัฐมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการควบคุมอุบัติเหตุทางถนน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าประเทศไทย ยังต้องพัฒนาระบบการจัดการอีกมาก ในทุกๆ มิติของอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้การแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุเกิดประสิทธิภาพและรวดเร็ว

สำหรับผู้ที่มีแผนเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ หากเป็นผู้ขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ขอให้ทุกท่านตรวจเช็คความพร้อมของรถก่อนออกเดินทาง ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด อย่าลืมคาดเข็มขัดนิรภัย สำหรับรถจักรยานยนต์ให้สวมใส่หมวกกันน็อคทุกครั้ง ง่วงจอดพัก และที่สำคัญ “ดื่มไม่ขับ” ทั้งก่อนขับรถ และระหว่างขับรถ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ด้วยความปรารถนาดีจาก “รายงานสุขภาพคนไทย”

 

ท่านสามารถอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ในรายงานสุขภาพคนไทย เรื่อง “อุบัติเหตุบนท้องถนน: ภัยร้ายใกล้ตัว” ผ่านทาง https://www.thaihealthreport.com/th/articles_detail.php?id=44 ได้เลยครับ

ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ ‘สุขภาพคนไทย’
ได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/th/index.php
Facebook: สุขภาพคนไทย
Instagram: thaihealthreport
TikTok: @thaihealthreport

ปรับปรุงเนื้อหาจาก: รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2564 (หมวด 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ) หน้าที่ 80 - 85


แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม:
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน. เปิดยอดอุบัติเหตุ 7 วันอันตราย"สงกรานต์2565"ดับพุ่ง 278 ราย. (2565, 18 เมษายน). https://www.posttoday.com/social/general/680849

 


Related Topics :

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333