บทความสั้น
โรคพิษสุนัขบ้า อย่าประมาท
Home / บทความสั้น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | พฤษภาคม 2564

ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี มักพบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies Virus) หรือโรคกลัวน้ำเป็นโรคติดเชื้อในระบบประสาทจากสัตว์สู่คน มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตเกือบทุกราย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียารักษา แต่โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน

ในแต่ละปีองค์การอนามัยโรครายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่า 60,000 รายทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ในปี 2563 มีตัวอย่างส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าทั้งหมด 6,845 ตัวอย่าง พบผลบวกทั้งหมด 233 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 3.4 ใน 35 จังหวัด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง โดยพบการติดเชื้อสูงสุดใน 10 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี สงขลา สุรินทร์ นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี ราชบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว และพัทลุง หรือในเกือบทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคเหนือ ส่วนชนิดสัตว์ที่พบได้แก่ สุนัข 209 ตัว โค 11 ตัว แมว 6 ตัว และอื่นๆ 5 ตัว จะเห็นได้ว่าสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขเป็นสาเหตุหลักของการแพร่ของโรค โดยในปี 2563 พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 3 รายใน 3 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย สระแก้ว และศรีสะเกษ สำหรับในปี 2564 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 ราย ที่จังหวัดบุรีรัมย์[1]

ที่จริงแล้ว โรคพิษสุนัขบ้าอาจพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น ค้างคาว วัว ลิง ชะนี กระรอก กระต่าย รวมถึงหนู เป็นต้น แต่พบว่าสุนัขและแมวเป็นสัตว์ที่นำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนมากที่สุด โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกกัด ข่วนหรือเลียบริเวณที่มีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยขีดข่วน หรือถูกเลียบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก เป็นต้น นอกจากนี้ การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้[2] หลังได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะแสดงอาการป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ในบางรายอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการก็ได้ ขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของบาดแผลรวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด

​สำหรับการป้องกันโรคในปี 2564 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ดำเนินโครงการความร่วมมือการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ดำเนินการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมวพร้อมกันทั้งประเทศ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2564 ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 เดือน แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้โครงการดังกล่าวต้องล่าช้าออกไปในหลายพื้นที่ ดังนั้น ประชาชนจึงไม่ควรประมาทกับโรคพิษสุนัขบ้า และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างๆ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อจากโรคไวรัสดังกล่าว


[1] สืบค้นจาก https://gnews.apps.go.th/news?news=83874 วันที่ 19 พฤษภาคม 2564
[2] สืบค้นจาก http://laemngophos.org/index.php?name=newsdata6&file=readnews&id=33 วันที่ 19 พฤษภาคม 2564


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333