บทความสั้น
วิถีพุทธธรรม: หลักการดูแลสุขภาวะที่ “ไม่ล้าสมัย”
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | มีนาคม 2566

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีเป็นวันมาฆบูชา เป็นวัน “พระธรรม” ที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา “โอวาทปาฏิโมกข์”  ซึ่งสรุปได้ง่ายๆคือ ทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์

ท่ามกลางวิทยาการทางการแพทย์ที่รุดหน้าอย่างก้าวกระโดด หลายคนคงตั้งคำถามว่า พระธรรมที่มีมากว่า 2,500 ปีนี้ยังมีประโยชน์สำหรับการดูแลสุขภาพหรือไม่? วันนี้สุขภาพคนไทยจะมาเล่าให้ทุกคนฟังว่า ธรรมะนั้นมี “ยัง” ส่วนช่วยในการส่งเสริมสุขภาพอย่างไร

ธรรมะ “ทั้งหมด” กว่า 84,000 พระธรรมขันธ์นั้นล้วนเอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะ “ไม่มี” พระธรรมวินัยไหนเลยที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขของหมู่ชน

เนื่องจากธรรมะในพุทธศาสนามีมาก สุขภาพคนไทยจึงขอยก “ตัวอย่าง” ธรรมะบางข้อเพื่อแสดงให้เห็นว่า ธรรมะสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อสร้างเสริมสุขภาพทางกาย ทางจิตใจ ทางปัญญา และทางสังคมได้อย่างไร

  1. สุขภาพกาย การใช้ปัญญาพิจารณาให้แยบคายก่อนบริโภคปัจจัย 4 “ปัจจัยสันนิสิตศีล” สามารถส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น ก่อนกินอาหาร  คิดถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการกินว่า กินเพื่อสุขภาพและเพื่อทำกิจหน้าที่ของตนได้ด้วยดี  การบริโภคด้วย “ปัญญา” นี้อาจลดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคด้วยตัณหา
  2. สุขภาพจิต ภาวะจิตที่สงบ ตื่นรู้อยู่ทุกขณะและตั้งมั่นเป็น “สมาธิ” ส่งผลให้จิตใจเบิกบาน ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อต่อสุขภาพจิตที่ดี นอกจากนี้ ความเบิกบานนี้ยังยั่งยืนกว่าการได้รับสิ่งที่พึ่งประสงค์ เช่น ได้สิ่งของที่ต้องการ อยู่กับคนที่รัก
  3. สุขภาพปัญญา การปฏิบัติตามแนวทาง “ไตรสิกขา” จะช่วยให้จิตอยู่ด้วยปัญญา เข้าใจในเหตุผล และไม่ถูกกระทบด้วยอารมณ์ที่พันธนาการ โดยการฝึกกาย วาจา ใจให้เรียบร้อย (ศีลสิกขา) ฝึกจิตให้สงบไม่ฟุ้งซ่าย (จิตตสิกขา) และพิจารณาจนเกิดความเข้าใจความเป็นไปของสรรพสิ่งตามเหตุปัจจัย (ปัญญาสิกขา)  
  4. สุขภาพสังคม “สังคหวัตถุ 4” ซึ่งประกอบด้วยหลักปฎิบัติ 4 ประการได้แก่ การแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (ทาน) การพูดจาที่ก่อให้เกิดไมตรีและสามัคคี (ปิยวาจา) การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น (อัตถจริยา) และการวางตนให้เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ (สมานัตตตา) อาจมีส่วนช่วยให้สมาชิกทุกระดับในสังคมมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

จากตัวอย่างธรรมะข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า พุทธศาสนามีบทบาทในการเสริมสุขภาพทางกาย จิตใจ ปัญญาและสังคม อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธแต่ละคนนับถือพุทธศาสนาในรูปแบบที่แตกต่างกัน จึงส่งผลต่อสุขภาพแตกต่างกันด้วย สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถ Download เพื่ออ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/file_book/sp-th2561.pdf


Related Topics :

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333