บทความสั้น
บุหรี่ไฟฟ้า...ทางเลือกที่ ”อันตราย” ไม่น้อยไปกว่าบุหรี่
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | กุมภาพันธ์ 2566

บุหรี่ไฟฟ้าถูกผลิตโดย “หวัง” ว่าจะเป็นทางเลือกให้ผู้เลิกสูบบุหรี่เพื่อเลิกบุหรี่แบบธรรมดา แต่บุหรี่ทางเลือกนี้กลับถูก “เข้าใจผิด” ว่าปลอดภัย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว แม้แต่ตัวผู้ประดิษฐ์เองนอกจากจะ “ไม่” สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้แล้ว มิหนำซ้ำยังติดบุหรี่ “ทั้งสองอย่าง” อีกด้วย

แย่ไปกว่านั้น รายงานจากทั่วโลกยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีพิษและเป็นอันตราย “มากกว่า” บุหรี่แบบธรรมดาในหลายแง่มุม เช่น ไอความร้อนที่สูงมากสามารถทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ องค์กรอนามัยโลก (World Health Organization) ออกประกาศว่า บุหรี่ไฟฟ้า “ไม่ใช่” ทางเลือกในการเลิกสูบบุหรี่

บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อสุขภาพ แพทย์อเมริกันพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำให้คนป่วยได้นานถึง 12 ปี และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีรายงานว่า กว่า 95% ของบุหรี่ไฟฟ้าผสมสารนิโคติน ซึ่งทำให้หลอดเลือดสมองหดตัว และมีสารก่อมะเร็งเป็นตัวทำละลาย รวมถึงมีสารปรุงแต่งกลิ่นที่มีฤทธิ์ทำลายเยื่อบุหลอดลม

ในประเทศไทย สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้สูบหน้าใหม่ 13.1% ของวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่แบบธรรมดา จึงอาจส่งผลต่อการตัดสินใจลองบุหรี่ไฟฟ้าได้

จากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า กลุ่ม “วัยรุ่นและเยาวชน” อายุ 15-24 ปี เคยเห็นการตั้งวางหรือโชว์ซองบุหรี่ ณ ร้านขายบุหรี่ “มากที่สุด” เมื่อเปรียบเทียบกับวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ และยังพบความชุกการสูบ “บุหรี่” สูงสุดในภาคใต้ถึง 22.4% ในขณะที่พบความชุกสูงสุดของการสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” ในกรุงเทพมหานครที่ 1.2%

พฤติกรรมการสูบบุหรี่ในประเทศไทยนั้นมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าล่าสุดในประเทศไทยเป็นอย่างไร สามารถติดตามได้ที่หมวดตัวชี้วัดสุขภาพ หนังสือสุขภาพคนไทย 2566 ที่จะออกเดือน เม.ย. 2566  โดยติดต่อขอรับหนังสือได้ที่  thaihealthipsr@gmail.com หรือติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook https://www.facebook.com/Thaihealthreport และ Instagram https://www.instagram.com/thaihealthreport/

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าที่ผ่านมาทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย ผลกระทบด้านสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้า นโยบายและกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงแนวทางควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า อ่านต่อและ Download บทความได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/file_book/re-7-63.pdf


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333