บทความสั้น
ฝุ่น PM2.5 ภัยสุขภาพที่ต้องเร่งแก้ไข
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | กุมภาพันธ์ 2566

ในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลแบบนี้ ค่าฝุ่น PM2.5 กลับมากวนใจพวกเราอีกครั้ง หลังจากที่พวกเราตื่นตาตื่นใจไปกับอากาศเย็นที่หายากในรอบหลายปี หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมเราถึงแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้สักที วันนี้สุขภาพคนไทยจะมาเล่าให้ทุกคนฟังกัน!

ฝุ่น PM2.5 เป็นฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนสามารถผ่านการกรองของจมูกและเข้าสู่ “ชั้นในสุด” ของปอดได้ ฝุ่นขนาดเล็กนี้จึงเป็น “ตัวกลาง” นำพาสารก่อมะเร็ง และสารโลหะหนักเข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้เป็นอันตรายทั้งต่อระบบทางเดินหายใจ ปอด ระบบหัวใจ หลอดเลือด รวมถึงระบบประสาทและสมองด้วย  

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐานมาหลายปีแล้ว แต่เดิมนั้นเป็นปัญหาหนักทางภาคเหนือ ผศ.ดร. สมพร จันทระ ให้ข้อมูลว่า สาเหตุหลักมาจากการเผาพื้นที่ป่า พื้นที่การเกษตร และลักษณะทางภูมิประเทศของภาคเหนือที่คล้ายแอ่งกระทะ ที่เอื้อให้หมอกควันเข้าปกคลุมพื้นที่

ต่อมาปริมาณฝุ่นได้เพิ่มขึ้นทุกปีจากหลายสาเหตุ และขยายไปหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้ฝุ่นได้กลายเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงพื้นที่อื่นๆของประเทศไทย ด้วยสภาพอากาศที่ค่อนข้างนิ่งในช่วงฤดูหนาว ไอเสียจากการเผาไหม้โดยเฉพาะจากน้ำมันดีเซล และอากาศพิษจากการเผาไหม้พื้นที่การเกษตร และเชื้อเพลิงของโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้มลพิษที่ปกคลุมพื้นที่ถูกพัดออกไปได้น้อย

ในขณะที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีปัญหาฝุ่น PM2.5 จากกิจกรรมของมนุษย์ภายในประเทศเป็นหลัก แต่ภาคใต้กลับได้รับผลกระทบจากมลพิษที่เกิดจากกิจกรรมของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่มีการเผาพื้นที่เกษตรเพื่อเก็บผลผลิต และเผาป่าเพื่อปรับพื้นที่สำหรับเกษตรกรรม ปัญหาฝุ่น PM2.5 นี้จึงไม่เพียงแต่เป็นปัญหาระดับชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาระดับภูมิภาคอีกด้วย

ปัจจุบันฝุ่น PM2.5 ได้กลายเป็นปัญหามลพิษที่ร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงหลายจังหวัดในประเทศไทยที่รอการแก้ไขอย่างเป็นระบบ แต่ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทยนั้น เป็นการแก้ปัญหาเชิงรับที่ปลายน้ำ เช่น ห้ามปิ้งย่าง พ่นละอองน้ำในอากาศ แต่มาตรการเหล่านี้ โดยเฉพาะการพ่นละอองน้ำนั้น เป็นมาตรการที่นอกจากจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังอาจนำไปสู่ “ปัญหาอื่น” ตามมา เพราะละอองน้ำ “ไม่” สามารถจับตัวกับอนุภาคที่เล็กของฝุ่น PM2.5  แต่ละอองน้ำอาจไปควบตัวนำฝุ่นและมลพิษอื่นๆ แทน นอกจากนี้หากแหล่งน้ำที่นำมาใช้ไม่สะอาดก็อาจก่อให้เกิดโรคจากเชื้อแบคทีเรียแทนที่จะแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5

เพราะสาเหตุหลักของการเกิดฝุ่น PM2.5 เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ดังนั้นมาตรการเชิงรุกที่จัดการไปที่แหล่งกำเนิดของฝุ่นและมลพิษต่างๆ อาจจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อมตามหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” (Polluter Pays Principle) ซึ่งได้แก่ ค่าภาษีมลพิษ (Pollution Tax) และใบอนุญาตปล่อยมลพิษ (Pollution Permits) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ ผู้ใช้รถยนต์ดีเซล ธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อยและน้ำตาลที่มีการเกษตรในแปลงเกษตรขนาดใหญ่ เป็นต้น

นอกจากนโยบายดังกล่าวแล้ว เราสามารถลดหลายกิจกรรมในครัวเรือน เช่น การสูบบุหรี่ การจุดธูปเทียน การหุงต้มด้วยถ่านไม้หรือฟืน และกิจกรรมในสำนักงาน เช่น การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร ที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดฝุ่นและมลพิษทางอากาศได้1

ปัญหาฝุ่น PM2.5 และมลพิษในอากาศไม่ใช่ปัญหาที่จะหมดไปได้ง่ายๆ ตราบเท่าที่ยังมีการใช้พลังงานต่างๆ โดยเฉพาะการเผาผลาญเชื้อเพลิง และวิถีการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แต่เราก็ไม่ควรจะอยู่กับอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ต่อไป เราทุกคนพึงได้รับการปกป้องสิทธิในการได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ พวกเราสามารถร่วมกันปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดการปล่อยมลพิษ และทำให้อากาศดีๆ ของเรากลับคืนมา

สำหรับผู้ที่สนใจอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ในเรื่องขอบเขตของปัญหาฝุ่น PM2.5 ผลกระทบต่อสุขภาพ และมาตรการแก้ไขที่ผ่านมา สามารถอ่านต่อได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/file_book/re-1-63.pdf


อ้างอิง

  1.  กลุ่มเฝ้าระวังฝุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เรียนรู้ อยู่กับฝุ่น PM2.5. สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2566 จาก https://www.chula.ac.th/wp-content/uploads/2019/10/Chula-PM25.pdf

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333