บทความสั้น
อุบัติเหตุกับเด็กบนท้องถนนไม่ได้เกิดจากเคราะห์กรรม แต่เกิดจาก “ความประมาท”
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | มกราคม 2566

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เพิ่งผ่านไปสดๆร้อนๆ ณ ขณะที่ผู้ปกครองหลายคนเที่ยวกับลูกอย่าง “สนุกสนาน” กลับมีผู้ปกครองอีกหลายคน “สูญเสีย” ลูกรักไปด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นเรื่องที่น่าเศร้าจากสถิติของรายงานสถานะความปลอดภัยบนท้องถนนระดับโลกขององค์การอนามัยโลกในปี 2563 (Global Status Report on Road Safety 2015) ซึ่งพบว่า คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียนและสูงเป็นอันดับที่สองของโลก

ยิ่งไปกว่านั้นจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ในปี 2557 พบว่า เด็กไทยอายุ 1 ปีขึ้นไปเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน “มากกว่า” การป่วย โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 5.9 ต่อเด็ก 100,000 คนจากบทความการบาดเจ็บและการได้รับสารพิษในเด็กปฐมวัย และแนวทางการพัฒนาความปลอดภัยอย่างยั่งยืนโดย รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

และจากรายงานกรณีศึกษาประเทศไทยในเรื่องเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ในปี พ.ศ. 2558 แม้ว่าการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสามารถป้องกันได้ แต่กลับมีผู้ปกครองเพียง 13.3% ที่ “เคยใช้”Car Seat หรือเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และ 55% ที่ “เคยเห็น” Car Seat โดยสาเหตุที่ผู้ปกครองไม่ได้ใช้ Car Seat นั้นมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไปดังกราฟด้านล่าง

ทั้งๆที่การใช้ Car Seat นั้นมีประโยชน์ต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี การใช้ Car Seat ที่เหมาะสมและติดตั้งอย่างถูกต้องสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กได้อย่างน้อย 60%1 จากการทบทวนงานวิจัย systematic review จากสหรัฐอเมริกาพบว่า ในกรณีของเด็กอายุ 8-12 ปี การใช้ Car Seat ช่วยลดอาการบาดเจ็บได้ 19% เมื่อเทียบกันเด็กในวัยเดียวกันที่ใช้ Seat Belt ของผู้ใหญ่จากที่นั่งด้านหลังของยานพาหนะเพียงอย่างเดียว2 

เด็ก “ไม่ใช่” ผู้ใหญ่ตัวเล็ก การใช้ Car Seat ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ “สำหรับเด็ก” จึงสามารถลดความเสี่ยงที่เด็กจะบาดเจ็บได้ เพราะ Car Seat “จำกัด” ร่างกายของเด็กไม่ให้เคลื่อนไหว เมื่อเกิดการชนหรือหยุดยานพาหนะกะทันหันด้วยการรองรับเด็กในท่านั่งหรือนอนหงาย ต่างจาก Seat Belt ทั่วไปที่มีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับเด็ก เด็กอาจ “หลุด” ออกมาได้เมื่อเกิดแรงปะทะ ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือเข็มขัดนิรภัยอาจ “รัด” ท้องหรือคอเด็กจนเสียชีวิตได้

ถึงแม้ว่า Car Seat จะไม่สามารถป้องกันการชน แต่ Car Seat สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อเด็กได้ด้วยการยึดตัวเด็กให้อยู่ในเบาะไม่ให้พุ่งกระแทกอุปกรณ์ในรถ และกระจายแรงกระแทกจากการชน โดยการเลือก Car Seat นั้นควรคำนึงถึง “น้ำหนักตัว” ของเด็กแทนที่จะเป็นอายุของเด็ก เพราะสรีระของเด็กอาจแตกต่างกันแม้อายุเท่ากันก็ตาม ดังนั้นจึงควรเลือกให้เหมาะกับลูกหลานของคุณ

บทบาท“ผู้พิทักษ์” ของผู้ใหญ่อาจกลายเป็น “มัจจุราช” พรากชีวิตเด็กก็เป็นได้ ดังนั้น Car Seat จึงไม่ใช่ของไร้สาระหรือสินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นสิ่ง “จำเป็น” เพื่อความปลอดภัยของเด็กทุกคน

Share บทความนี้ เพื่อให้เด็กบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนน้อยลง พ่อแม่ผู้ปกครองใช้ Car Seat กันมากขึ้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการใช้ Car Seat

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางจราจรของไทย อ่านต่อได้ที่สุขภาพคนไทย 2560
https://www.thaihealthreport.com/th/indicators.php?id=40&y=2560&bm=4

สถิติการบาดเจ็บของเด็ก ทั้งจากอุบัติเหตุจราจรและการจมน้ำ อ่านต่อได้ที่สุขภาพคนไทย 2561 https://www.thaihealthreport.com/th/indicators.php?id=27&y=2561&bm=3

สถิติล่าสุดเกี่ยวกับอุบัติเหตุ สามารถติดต่อเพื่อขอรับหนังสือสุขภาพคนไทย 2566 ที่จะออกเดือนเมษายน 2566 ได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com หรือติดตามและ Download ฉบับ E-Book ได้ที่ https://www.thaihealthreport.com


อ้างอิง

  1. Nazif-Munoz JI, Blank-Gommel A, Shor E. Effectiveness of child restraints and booster legislation in Israel. Inj Prev. 2017 Oct 10.
  2. Zaloshnja, E., T.R. Miller, and D. Hendrie, Effectiveness of child safety seats vs safety belts for children aged 2 to 3 years. Archives of pediatrics & adolescent medicine, 2007. 161(1): p. 65-6

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333