บทความสั้น
การจัดการชองเสียในชุมชนเพื่อลดปริมาณขยะ
Home / บทความสั้น

ภูเบศร์ สมุทรจักร และกัญญาพัชร สุทธิเกษม
เรื่องพิเศษ | ธันวาคม 2565

ในปี 2564 ประเทศไทย มีขยะมูลฝอยประมาณ 24.98 ล้านตัน ในจำนวนนี้ 6.23 ล้านตัน หรือราวร้อยละ 25 มีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน เช่น กลิ่นเหม็น น้ำเสียจากขยะปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำใต้ดิน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค เกิดมลพิษทางอากาศ1

การดำเนินงานด้านการจัดของเสียชุมชนได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันเช่นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่พร้อมใจกันประกาศนโยบายลดใช้ถุงพลาสติก โดยกลุ่มเซ็นทรัลและธุรกิจในเครือตั้งเป้าหมายลดการใช้ถุงพลาสติก 150 ล้านใบในปี 2562   แฟมิลี่มาร์ท รณรงค์ให้ลูกค้าปฏิเสธรับถุงพลาสติก เทสโก้ โลตัส ประกาศเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่ทำจากโฟม ทุกชนิดตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นมาทำให้สามารถลดการใช้โฟมลงได้ 51 ตันต่อปี เซเว่น อีเลฟเว่นมีโครงการ “ลดวันละถุง..คุณทำได้” ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อเนื่องจากโครงการ “คิดถุง” ที่จูงใจลูกค้าให้ปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกด้วยการเปลี่ยนเป็นเงิน 20 สตางค์ต่อถุงนำไปสมทบทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลต่างๆ เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด รณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาเอง หากจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกจะต้องจ่ายในราคาถุงละ 1 บาทเพื่อนำไปสนับสนุนงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การณรงค์ของอุตสาหกรรมค้าปลีกเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อการปรับพฤติกรรมของประชาชนให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และลดปริมาณขยะซึ่งปัจจุบันคนไทยสร้างขยะเฉลี่ยคนละ 1.15 กิโลกรัมต่อคน หรือราว 27.82 ล้านตันต่อปี ใช้ถุงพลาสติกหิ้วราว 45,000 ล้านในต่อปี บรรจุภัณฑ์โฟมราว 6,7000 ล้านชิ้นต่อปี แก้วและขวดพลาสติกราว 9,750 ล้านใบต่อปี2

นอกจากการดำเนินงานของภาคเอกชนแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเทศไทยจัดให้มีโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER) และได้รับการขึ้นทะเบียนกับคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการและกิจกรรมก๊าซเรือนกระจก อบก. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ซึ่งโครงการดังกล่าวครอบคลุม 36,644,309 ครัวเรือน โรงเรียน 1,701 แห่งและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 18,935 แห่งที่อยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีเป้าหมายดำเนินการไปถึงระดับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต3

รวมทั้งโมเดล “ขยะสร้างสุข” ซึ่งริเริ่มโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นโมเดลการจัดการขยะอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่การจัดถัง คัดแยกขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ และขยะอันตราย ชั่งน้ำหนักและบันทึกขยะแต่ละประเภท โดยขยะรีไซเคิลส่งต่อไปยังชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ส่วนขยะอินทรีย์นำเข้าสู่กระบวนการย่อยสลายเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักและแก๊สชีวภาพ ซึ่งโมเดลนี้ได้รับการรับรองจาก The US Green Building Council (USGCB) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรองให้อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะเป็นอาคารประหยัดพลังงานในระดับแพลทินัม (Platinum)4

ในระดับท้องถิ่น จังหวัดขอนแก่นนับเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาขยะในพื้นที่เขตเมือง จนกระทั่งติดโพลอาเซียนจังหวัดสะอาด-เมืองน่าเที่ยว โดยดำเนินงานต่อยอดขยายพื้นที่เมืองไร้ขยะในกรุงเทพฯ ภายใน 2565 มุ่งขับเคลื่อนไทยสู่สังคม Zero Waste ขณะที่ในกรุงเทพมมหานคร มีการดำเนินการจัดการขยะที่ต้นทางตามนโยบายผู้ว่าฯ ประกอบด้วย 1) การจัดการขยะครบวงจรตามโครงการ “ไม่เทรวม” ซึ่งในปี 2565 มีการนำร่องในพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ เขตหนองแขม เขตปทุมวัน และเขตพญาไท ระยะเวลาในการดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2566 (8 เดือน) โดยขอความร่วมมือประชาชนแยกขยะออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “ขยะเศษอาหาร” และ “ขยะทั่วไป” สำนักงานเขตได้ดำเนินการส่งเสริมชุมชนและองค์กรต่างๆ ในพื้นที่เขตคัดแยกขยะและนำไปใช้ประโยชน์ ตั้งจุดรับมูลฝอยรีไซเคิลในสถานที่ราชการและเอกชน เช่น สำนักงานเขต สถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ

ผลการดำเนินการจัดเก็บขยะอินทรีย์หรือขยะเศษอาหาร เขตหนองแขมสามารถเก็บได้ 9,060 กิโลกรัม เขตปทุมวัน เก็บได้ 17,073 กิโลกรัม เขตพญาไท เก็บได้ 15,724 กิโลกรัม (ข้อมูลน้ำหนักขยะอินทรีย์ ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2565) ปัจจุบันได้ขยายการรับขยะอินทรีย์ โดยให้ประชาชนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการผ่านทางแอปพลิเคชันทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) 2) มีการพัฒนาระบบทิ้งขยะเพื่อปรับสภาพแวดล้อมบนทางเท้าด้วย “กรงตาข่าย” 3) มีจุด Drop Off ตามนโยบายส่งขยะกลับคืนสู่ระบบ ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กลุ่ม PPP Plastics โครงการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) You เทิร์น by PTTGC และ Z-Safe ดำเนินการโครงการ “มือวิเศษกรุงเทพ” และ 4) มีการเตรียมแผนการจัดการขยะภายในงานกาชาดประจำปี 2565 อีกด้วย5


อ้างอิง

  1. สสส. ชื่นชมศูนย์การเรียนรู้จัดการขยะ จ.ขอนแก่น ต้นแบบชุมชนไร้ขยะ. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2565 จาก  https://www.thaihealth.or.th/?p=311576
  2. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (2563). บทบาทภาคเอกชนกับการลดการใช้ถุงพลาสติก สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565 จาก https://datacenter.deqp.go.th/knowledge/environmentdoc/07th/  
  3. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (2565). โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565 จาก http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2022/9/28141_4_1664553774949.pdf?time=1664928840961  
  4. Brandage (2562). สสส. ปิ๊งไอเดียจัดการขยะลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ผุดโมเดล “ขยะสร้างสุข” สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.brandage.com/article/12708/สสส
  5. สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. (2565). กทม.มุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิดเพื่อลดขยะตั้งแต่ต้นทาง. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2565 จาก https://tinyurl.com/45v3trhd

 


Related Topics :

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333