บทความสั้น
ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร กับสุขภาพคนไทย
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | พฤศจิกายน 2565

ในทุกปี ตั้งแต่ 1999 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ร่วมกับองค์กรพันธมิตร จะมีการเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่ง ชื่อว่า "สถานะความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในโลก" (The State of Food Security and Nutrition in the World) เพื่อรายงานและวิเคราะห์เชิงลึกสถานการณ์ รวมถึงข้อท้าทายประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในระดับประเทศหรือกลุ่มประเทศและระดับโลก ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งต้องการขจัดปัญหาความหิวโหยและทุพโภชนาการของประชากรโลกให้หมดไป

รายงานฉบับนี้ในปี 20221 แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การเข้าไม่ถึงอาหาร  (รวมถึง การเข้าถึงอาหารที่ไม่เพียงพอ ทั้งในด้านปริมาณ ความปลอดภัย และโภชนาการที่เหมาะสม) ของคนจำนวนมากในโลกโดยเฉพาะจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่พบว่าในปี 2021 ผู้คนกว่า 2.3 พันล้านคนทั่วโลก กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง ซึ่งในจำนวนนี้กลุ่มที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารระดับรุนแรงมีมากถึงกว่า 900 ล้านคน คิดเป็นถึงร้อยละ 11.7 ของประชากรโลก


ที่มา ตาราง A1.2 (prevalence of severe food insecurity in the total population); FAO, IFAD, UNICEF, WFP and WHO. (2022)

สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ในเรื่องนี้ค่อนข้างน่ากังวล เฉลี่ยในช่วงปี 2019-21 สัดส่วนประชากรที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารระดับรุนแรงคาดการณ์ว่ามีมากถึง 7.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10.5 ของประชากรไทยทั้งหมด โดยจำนวนและสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เทียบกับสถานการณ์ในช่วง 5 ปีที่แล้ว (ช่วงปี 2014-16) ซึ่งมีจำนวนผู้ที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารระดับรุนแรงอยู่ที่ 2.9 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 4.2 ของประชากร และเมื่อเทียบกับสถานการณ์โดยเฉลี่ยของประเทศต่างๆในโลก กล่าวได้ว่า "แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์" ความไม่มั่นคงทางอาหารของประชากรไทยในช่วง 5 ปีดังกล่าวนี้ ค่อนข้างรุนแรงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (สัดส่วนประชากรที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารระดับรุนแรงของโลก เฉลี่ยช่วงปี 2014-16 และ 2019-21 อยู่ที่ ร้อยละ 7.7 และ 10.7 ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 ขณะที่ของไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 6)


ที่มา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (2565)

การสำรวจระดับประเทศในไทย ปี 2564 ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 13 ปีขึ้นไป ด้วยแบบประเมินระดับความไม่มั่นคงทางอาหาร หรือ (Food Insecurity Experience Scale: FIES) โดย สิรินทร์ยา พูลเกิด และคณะจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลภายใต้การสนับสนุนจาก สสส.  พบว่า ประชากรที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารระดับรุนแรง มีประมาณร้อยละ 3 (* สัดส่วนดังกล่าวนี้ต่ำกว่าตัวเลขจากรายงานของ FAO ปี 2022 ซึ่งน่าจะมาจากคำนิยาม ตัวชี้วัดและระเบียบวิธีการประเมินที่แตกต่างกัน) ที่น่าสนใจคือ กลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางหรือมีความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารมากกว่ากลุ่มอื่น คือ กลุ่มเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ผู้หญิง รวมถึงผู้สูงอายุ ซึ่งในบริบทของประเทศไทยจำนวนมากเป็นกลุ่มประชากรพึ่งพิง (ทางเศรษฐกิจและการดูแล) ในครัวเรือน

ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหารเป็นทั้ง "ผล" และ "สาเหตุ" ของปัญหาความแตกต่างเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีอยู่ในสังคมไทย และเป็นปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinant of Health: SDH) สำคัญที่เป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพและความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรเปราะบาง “รายงานสุขภาพคนไทย 2566” ที่มีกำหนดเผยแพร่ในช่วงเดือนมี.ค. 2566 ได้จัดทำข้อมูลสถานการณ์ตัวชี้วัดสุขภาพคนไทย ภายใต้หัวเรื่อง "ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ" ซึ่งหนึ่งในนั้นมีหมวดตัวชี้วัดเรื่อง "อาหาร" ที่ผู้อ่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ในประเด็นพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มของคนไทย รวมถึง สถานการณ์ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร...โปรดติดตาม


อ้างอิง

  1. FAO, IFAD, UNICEF, WFP and WHO. 2022. The State of Food Security and Nutrition in the World 2022. Repurposing food and agricultural policies to make healthy diets more affordable. Rome, FAO. https://doi.org/10.4060/cc0639en
  2. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. 2565. รายงานโครงการศึกษาสถานการณ์การบริโภคผักและผลไม้ของคนไทย (ระดับประเทศ) ครั้งที่ 3 (ปี 2564). โครงการศึกษาสถานการณ์การบริโภคผักและผลไม้ของคนไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (https://ipsr.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2022/09/Vegetable-consumption-national.pdf)

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333