บทความสั้น
อุบัติภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | ตุลาคม 2565

ในช่วงเช้าของวันที่ 22 กันยายน 2565 มีสารเคมีรั่วไหลส่งกลิ่นเหม็นคล้ายกลิ่นไหม้ลอยขึ้นอากาศฟุ้งกระจายไปทั่ว ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ครอบคลุมพื้นที่อำเภอนครชัยศรี สามพราน และพุทธมณฑล ของจังหวัดนครปฐม รวมถึงบางพื้นที่ในจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานครด้วย

เหตุการณ์ครั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศ ซึ่งในช่วงแรกยังไม่ได้มีการประกาศให้ประชาชนทราบอย่างทันท่วงที เด็กๆ จึงไปโรงเรียนตามปกติ ซึ่งในเวลาต่อมาของช่วงเช้า ทางโรงเรียนในพื้นที่ดังกล่าวต้องประกาศหยุดเรียนกะทันหัน และแจ้งให้ผู้ปกครองมารับเด็กกลับบ้าน เพื่อลดปัญหาที่จะตามมา รวมทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้มีการประกาศให้นักศึกษาและบุคลากร หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคาร ไม่อยู่ในบริเวณพื้นที่โล่งแจ้ง และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันระบบทางเดินหายใจ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่บริษัท อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี เป็นโรงงานผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และเส้นใยประดิษฐ์ สำนักงานอุตสาหกรรม จังหวัดนครปฐม ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ พบว่า เกิดเหตุรั่วไหลของน้ำมันถ่ายเทความร้อน บริเวณระบบการผลิตเม็ดพลาสติก ทำให้สารแลกเปลี่ยนความร้อนของระบบความเย็น (cooling) รั่วไหล เวลาเกิดเหตุประมาณ 06.00 - 06.15 น. และได้ปิดวาล์วแล้ว ซึ่งสารดังกล่าวเป็นสารกลุ่มอะโรเมติกเบนซีน ชนิดไบฟีนิล และ ไดฟีนิลออกไซด์ ทั้งนี้สารเคมีกลุ่มดังกล่าว มีคุณสมบัติน้ำหนักเบา เมื่อรั่วไหลจึงลอยในชั้นอากาศฟุ้งกระจาย ส่งผลกระทบเมื่อสัมผัสและจะทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจได้ ในเบื้องต้นมีประชาชนได้รับผลกระทบ 17 คน ซึ่งหลังจากการตรวจรักษาไม่พบอาการรุนแรง สามารถกลับบ้านได้ตามปกติ

ทั้งนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ตรวจวัดคุณภาพอากาศ ความเข้มของสารระเหยเบนซีน ใน 11 จุด ผลการตรวจวัด พบว่า ไม่เกินค่ามาตรฐาน ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง ขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายเบนซีน สำหรับการสัมผัสในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 15 นาที พบค่าเบนซีน ไม่เกิน 5 ppm1

สารกลุ่มอะโรเมติกเบนซิน อันตรายหรือไม่ – นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้ให้ข้อมูลความปลอดภัยของสารกลุ่มอะโรเมติกเบนซีนว่า เมื่อสารดังกล่าวถูกความร้อนจะกลายเป็นสารไฮโดรคาร์บอนลอยไปได้ไกล หากหายใจเข้าไปจะมีอาการมึนงง เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ  อาเจียน ทำลายถุงลมปอด มีผื่นคันตามผิวหนัง ถ้าได้รับในระดับที่มีความเข้มข้นมากอาจทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้2

จะว่าไปแล้ว เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เป็นเหตุการณ์แรกๆ ในประเทศไทย ที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เช่น กรณีีคลังเก็บสินค้าอันตรายของท่าเรือคลองเตย กรุงเทพณ ระเบิดและไฟไหม้  เมื่อปี 2534 มีประชาชนได้รับลกระทบอย่างน้อย 6,000 คน และมีีผู้้เสียชีวิตกว่า 30 ราย กรณีถังเก็บสารเคมีีระเบิดในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเมื่อปี 2555 มีีผู้้ได้้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 1,200 ราย และคนงานเสียชีวิตทันทีี 11 ราย และโรงงานหมิงตี้ระเบิดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 เหตุการณ์นี้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 15 ราย อาสาสมัครเสียชีวิต 1 ราย มีีประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาลงทะเบียนถึง 1,266 ราย มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท

เหตุการณ์ที่เกิดดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดการเรียนรู้ การแก้ปัญหา และการบริหารจัดการเหตุจากภัยพิบัติจากสารเคมีอย่างที่ควรจะเป็น คำถามที่ตามมาคือ การควบคุมสารเคมีที่ใช้กันในภาคอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากพอกับความปลอดภัยของประชาชนอยู่ในระดับมาตรฐานหรือไม่ นอกจากนี้พบว่าโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่อยู่อาศัย เมื่อเกิดเหตุจึงส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับกับกฎหมายผังเมือง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บางโรงงานอุตสาหกรรมมีการตั้งขึ้นมาก่อนบ้านพักอาศัยที่ขยายออกมาจากพื้นที่อื่น ขยายจนมาถึงพื้นที่บริเวณใกล้โรงงานนั่นเอง

เหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลครั้งนี้ แม้ว่าจะว่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนไม่มากนักเมื่อเทียบกับเหตุการณ์อื่นๆ ที่ผ่านมา แต่เป็นอุบัติภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเหตุการณ์เพลิงไหม้ในโรงงานส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติกและโรงงานรีไซเคิล จากข้อมูลที่รวบรวมได้ตั้งแต่ต้นปี 2560 ถึง กรกฎาคม 2564 เกิดเหตุเพลิงไหม้แล้วอย่างน้อย 62 ครั้ง ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพ ชีวิต และทรัพย์สินไม่น้อย บางโรงงานเกิดเหตุเพลิงไหม้ซ้ำๆ และหลายครั้งที่ไม่ทราบถึงสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ ทำให้เห็นว่า แผนรับมืออุบัติภัยฉุกเฉินในปัจจุบันยังไม่ค่อยมีการนำมาปฏิบัติอย่างแท้จริง หากมีการนำแผนรับมือดังกล่าวมาใช้จะช่วยให้ไม่เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อยครั้ง หรือหากเกิดขึ้นจริงก็จะไม่ร้ายแรงอย่างกรณีโรงงานหมิงตี้ฯ3

ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องปรับวิธีการบริหารจัดการรมือทั้งเรื่องการกำกับ ป้องกัน และการแก้ปัญหาที่เกิดจากอุบัติเหตุที่เกิดสารเคมีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติของการเข้าควบคุมสถานการณ์ การประกาศแจ้งให้ประชาชนที่อยู่รอบๆ บริเวณที่เกิดรับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแนวทางการปฏิบัติตัวรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ห้ามออกนอกอาคาร การสวมใส่หน้ากากอนามัย การแก้พิษจากสารเคมีที่รั่วไหล หรือแผนการอพยพออกจากพื้นที่เกิดเหตุ เป็นต้น


อ้างอิง

  1. เผยปมสารเคมีรั่วนครปฐม จากหม้อต้มน้ำมันร้อนรั่วไหล ยันไม่ใช่สารก่อมะเร็ง. (24 กันยายน 2565). ไทยรัฐออนไลน์ , จาก https://www.thairath.co.th/news/local/central/2509002
  2. โรงงานสิ่งทอพลาสติกนครปฐม เกิดสารเคมีรั่วไหล กระทบประชาชนใกล้เคียงหลายอำเภอ. (22 กันยายน 2565). BBC News ไทย, จาก  https://www.bbc.com/thai/articles/ce90dq36qzwo
  3. โครงการสุขภาพคนไทย. (2565). โรงงานหมิงตี้ระเบิด บทเรียนจากภัยพิบัติจากโรงงานสารเคมี. สุขภาพคนไทย 2565 (หน้า 59–63) นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333