บทความสั้น
ความมั่นคงทางอาหารของไทย (ตอนที่ 2)
Home / บทความสั้น

ผศ. ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์
สถานการณ์เด่น | กันยายน 2565

ความมั่นคงทางอาหารของไทย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ได้ทำการศึกษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย พบว่า ในปี 2021 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 51 ของโลกจากทั้งหมด 113 ประเทศ (จากการรายงานของ The Economist Intelligence Unit) แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกก็ตาม โดยความมั่นคงทางอาหารของไทยอยู่ในระดับเฉลี่ย 2 องค์ประกอบ คือ ประชาชนสามารถหาซื้ออาหารได้ง่าย (Affordability) และทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตอาหารค่อนข้างมีความยืดหยุ่น (Natural Resources and Resilience) (ไทยอยู่ในลำดับที่ 40 และ 50 ของโลกตามลำดับ) แต่ไทยยังมีจุดอ่อนใน 2 องค์ประกอบ คือ ความพร้อมและความพอเพียงด้านอาหาร (Availability) และคุณภาพและความปลอดภัย (Quality and Safety) (ไทยอยู่ในลำดับที่ 59 และ 73 ของโลกตามลำดับ) ไทยจึงต้องปรับปรุงจุดอ่อนดังกล่าว เพื่อยกระดับความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว1

ทั้งนี้ ttb analytics ได้ทำการศึกษา 5 อาหารหลักของไทย ได้แก่ หมู น้ำมันปาล์ม ไก่ ข้าว และน้ำตาล พบว่า ปริมาณการผลิตยังมีเพียงพอสำหรับการบริโภค (โดยมีสัดส่วนการบริโภคต่อปริมาณการผลิตของ หมู น้ำมันปาล์ม ไก่ ข้าว และน้ำตาล อยู่ที่ 92% 73% 68% 65% และ 24% ตามลำดับ) แต่ปัจจัยที่น่ากังวลคือ ราคาอาหารโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความตึงเครียดของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ดังนั้น ไทยจึงต้องบริหารอุปทานอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศด้วยราคาที่ประชาชนรับได้ โดยอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการกำหนดเป้าหมายปริมาณการผลิตที่เพียงพอ และประสานให้เกษตรกรวางแผนการผลิตล่วงหน้า และหากมีการผลิตอาหารส่วนเกินก็ให้ส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศได้

นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว ความเสี่ยงในเรื่องความมั่นคงทางอาหารของไทยประการหนึ่งก็คือ สัดส่วนประชากรที่ขาดแคลนสารอาหารต่อจำนวนประชากรทั้งหมด (Prevalence of Undernourishment หรือ PoU) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2018 FAO รายงานว่า ประเทศไทยมีสัดส่วน PoU อยู่ที่ 9.3% ของประชากรทั้งหมด เทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 8.9% โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2016 ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงมีค่า PoU เพียง 2.7% เท่านั้น ซี่งสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารอาหารที่เพียงพอและหลากหลายของประชากรในประเทศ โดยการแก้ปัญหาของไทยนั้น อาจใช้มาตรการต่างๆ เช่น สนับสนุนเกษตรกรให้ผลิตอาหารที่หลากหลาย สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการ และช่วยประคับประคองรายได้ของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น2

นโยบายและมาตรการของรัฐ

ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดยในการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการ ด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2567) ซึ่งจะเป็นแผนปฏิบัติการ ระยะเวลา 5 ปี ที่อ้างอิงตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2561 - 2580) ระยะ 20 ปี โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความั่นคงทางอาหารของประเทศที่ยั่งยืน ประชาชนได้รับอาหารที่มีคุณภาพ และมีสุขภาวะที่ดีขึ้นจากการได้รับอาหารที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ตามแผนปฏิบัติการฯ จะดำเนินจัดการด้านอาหารผ่านกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคงอาหาร ด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร ด้านอาหารศึกษา และด้านบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมายสำคัญ 6 เป้าหมาย ประกอบด้วย 1) จำนวนคนขาดแคลนอาหารลดลง โดยสิ้นสุดแผนปี 2570 จะต้องมีประชากรที่ขาดแคลนอาหารไม่เกินร้อยละ 7 ของจำนวนประชากร 2) ปริมาณการสูญเสียอาหาร และขยะอาหารลดลง 3) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อคุณภาพและความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น โดย ณ ปี 2570 ระดับความเชื่อมั่นต้องอยู่ในระดับดี 4) มูลค่าการค้าอาหารเพิ่มขึ้น โดยมีตัวชี้วัดเป็นการเติบโตของมูลค่าการส่งออกอาหาร ตั้งแต่ปี 2566 - 2570 ที่ร้อยละ 3 ต่อปี ดัชนีการส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ต่อปี ดัชนีผลผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี 5)จำนวนคนที่มีภาวะทุพโภชนาการลดลง โดย ณ ปี 2570 เด็กอายุ 0 - 5 ปี มีภาวะเตี้ยไม่เกินร้อยละ 8 มีภาวะผอมไม่เกินร้อยละ 5 มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนไม่เกินร้อยละ 8 และ 6) มีกลไกประสานงานกลางและบูรณาการดำเนินงาน3

ทางด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้จัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (BIG DATA) ซึ่งจะช่วยในการคาดการณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรแบบรายชนิดสินค้า ที่จะออกสู่ตลาดเป็นรายเดือนตลอดปีจากแต่ละจังหวัด อำเภอและตำบล โดยปัจจุบัน มีการรวบรวมสินค้าพืช 50 ชนิด ปศุสัตว์ 10 ชนิด และประมง 10 ชนิด และจะทำให้ทราบปริมาณสารอาหารที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัดด้วย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการได้ทั้งระบบ4


อ้างอิง

  1. สืบค้นจาก https://www.ttbbank.com/th/newsroom/detail/food-security วันที่ 20 กันยายน 2565
  2. สืบค้นจาก https://www.scbeic.com/th/detail/product/7400 วันที่ 22 กันยายน 2565
  3. สืบค้นจาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/50907 วันที่ 23 กันยายน 2565
  4. สืบค้นจาก https://www.komchadluek.net/news/economic/527671 วันที่ 24 กันยายน 2565

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333