บทความสั้น
กิจกรรมทางกาย: ความเหลื่อมล้ำ
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | กันยายน 2565

จากบทความกิจกรรมทางกาย: เท่าไหร่ถึงจะพอ ตอนที่ 1 และ 2  พบว่า การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ในกลุ่มประชากรอายุ 18-59 ปี มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องและเกินค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง และลดลงในปี 2563 ซึ่งมาจากสถานการณ์โควิด-19 และเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่น พบว่ามีความแตกต่างในสัดส่วนการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอของประชากรจำแนกตามกลุ่มวัย โดยภาพรวม สัดส่วนของประชากรวัยทำงาน (18-59 ปี) มีกิจกรรมทางกายเพียงพอสูงกว่าของประชากรเด็กและเยาวชน (6-17 ปี) และวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)

เมื่อนำภูมิภาคมาพิจารณาการมีกิจกรรมทางกาย พบว่า จากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอระหว่างภูมิภาค โดยประชากรในกรุงเทพมหานครมีกิจกรรมทางกายสูงที่สุด รองลงมาคือ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ตามลำดับ

จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกายแล้ว ยังทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการมีกิจกรรมทางกายอีกด้วย ซึ่งนอกจากความเหลื่อมล้ำด้านอายุของประชากรในการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอแล้ว  การสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564 นี้ได้แสดงให้เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอระหว่างภูมิภาคอีกด้วย

อายุและภูมิภาคเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพที่สำคัญที่ส่งผลต่อการมีกิจกรรมทางกาย ปัจจัยกำหนดสุขภาพอื่นๆ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมทางสุขภาพของประชากรยังมีอีกหลายปัจจัย รายละเอียดเพิ่มเติมรอติดตามได้ในส่วนตัวชี้วัดสุขภาพ เรื่องปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ในรายงานสุขภาพคนไทยปี 2566 นี้


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333