บทความสั้น
การล่มสลายของแมลง ส่งผลกระทบอะไรต่อมนุษย์
Home / บทความสั้น

กัญญาพัชร สุทธิเกษม
เรื่องพิเศษ | สิงหาคม 2565

ในชีวิตของมนุษย์ แมลง เป็นสิ่งรบกวน เป็นแหล่งเชื้อโรค และสร้างความรำคาญใจให้มนุษย์อยู่ไม่น้อย ถึงกับต้องตบตี ใช้สารเคมีมาฉีดพ่นให้ตาย หรือหาทางกำจัดด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ในระบบห่วงโซ่อาหาร แมลง มีคุณมหาศาลต่อมนุษย์ เพราะเป็นแหล่งอาหารสำคัญ บางชนิดก็มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ และยังเป็นผู้ช่วยผลิตอาหาร โดยการผสมเกษรของพืชผัก ผลไม้ ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ตั้งแต่ใบไม้ไปจนถึงซากพืชซากสัตว์ บนโลกเราจึงมีพืชพรรณที่หลากหลายไว้เป็นอาหารเลี้ยงมนุษย์ทั่วโลก การมีแมลงหลากหลายสายพันธุ์ จึงเป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ตรงกันข้ามเมื่อแมลงสูญหาย อาจเป็นหายนะที่มนุษย์จะต้องพบในไม่ช้า

งานวิจัยในต่างประเทศกว่า 70 ชิ้นวิเคราะห์ พบว่า ประชากรแมลง บนโลกนี้ กำลังล่มสลาย (Insect apocalypse)1 โดยมีจำนวนลดลง 1 ต่อ 4 ทุกๆ 10 ปี ด้วยน้ำมือมนุษย์2 การสูญเสียแมลงไปแต่ละชนิดเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก เพราะเราไม่มีวันรู้ว่าแมลงที่หายไปนั้นทำหน้าที่อะไรหรือมีประโยชน์ต่อพืชและสัตว์อื่นอย่างไร ในเยอรมนี พบว่า แมลงในพื้นที่คุ้มครองลดลงถึงร้อยละ 75 ส่วนประเทศไทย มีการศึกษาชนิดแมลงหายากใกล้สูญพันธุ์ เมื่อปี 2551-2552 ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย และศึกษาจากตัวอย่างแมลงในพิพิธภัณฑ์ พบแมลงหายากใกล้สูญพันธุ์ 3 อันดับ 12 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นผีเสื้อ3 นอกจากนี้ มีการศึกษาในภาคใต้ของไทยเกี่ยวกับแมลงหายากใกล้สูญพันธุ์ ระหว่างปี 2553-2558 พบว่ามีแมลงหายากและใกล้สูญพันธุ์ ทั้งหมดถึง 45 ตัวอย่าง จำแนกได้ 6 ชนิด จึงมีการรวบรวมนำมาเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์แมลงของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ผีเสื้อร่อนลมสยาม จำนวน 5 ตัวอย่าง ผีเสื้อค้างคาว 12 ตัวอย่าง ด้วงดินปีกแข็ง 9 ตัวอย่าง หิ่งห้อยยักษ์ 4 ตัวอย่าง หิ่งห้อยไดอะฟาเนส 6 ตัวอย่างและตั๊กแตนขาหนาม 9 ตัวอย่าง4  สถานการณ์ที่แมลงลดจำนวนลงและใกล้สูญพันธุ์ดังกล่าว เกิดขึ้นจากสภาพอากาศของโลก และกิจกรรมของมนุษย์

อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้แมลงลดลงหรือสูญพันธุ์ ส่วนกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำร้ายแมลง ได้แก่ การทำเกษตรเข้มข้นเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมี (ยาฆ่าแมลง) และอุตสาหกรรมที่มีการถางเผาและทำลายพื้นที่ป่าและระบบนิเวศ ทำให้แมลงที่มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์สูญหายและส่งผลกระทบต่อมนุษย์ เช่น การระบาดของแมลงศัตรูพืช เพราะเมื่อโลกร้อนขึ้นทำให้แมลงเผาผลาญพลังงานเร็วขึ้นและรู้สึกหิวโหยมากขึ้น จึงต้องการอาหารจำนวนมากเพื่อรองรับการเผาผลาญพลังงาน และเมื่อศึกษาเชิงทดลอง จึงมีการพยากรณ์ว่า แมลงจะกินพืชผลทางการเกษตรและทำลายผลผลิตอาหารของโลกถึงร้อยละ 10 ก่อนที่พืชจะโตพอเก็บเกี่ยวได้5  นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า แสงไฟประดิษฐ์หลากสีตอนกลางคืน เป็นสิ่งที่รบกวนชีวิตของแมลง และทำให้แมลงจำนวนมากสูญพันธุ์ ตัวอย่างเช่น ขัดขวางการหาคู่ของหิ่งห้อย เปลี่ยนการรับรู้กลางวันกลางคืนของจักจั่น รบกวนแมลงชีปะขาวในการใช้แสงของตัวเองหาแหล่งน้ำเพื่อวางไข่ เป็นต้น และเมื่อแมลงเล่นไฟ ก็มักจะกลายเป็นเหยื่อของ หนู นก จิ้งจก ค้างคาว และแมงมุม ซึ่งทำให้ห่วงโซ่อาหารเสียสมดุล เพราะการถูกล่ามากเกินไปทำให้ประชากรแมลงสูญพันธุ์5 ผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารเมื่อแมลงหายไป จะเกิดกับสัตว์หลายชนิดที่กินแมลงเป็นอาหาร ทำให้สัตว์เหล่านี้ขาดอาหารและล้มตายเป็นทอดๆ ที่สำคัญโลกจะขาดแหล่งผลิตอาหาร โดยเฉพาะผีเสื้อผสมเกสร ที่หลายชนิดหายากและใกล้สูญพันธุ์มากขึ้นทุกที  

แม้ว่าการควบคุมอุณหภูมิโลกจะเป็นไปได้ยากเสียแล้ว แต่ยังมีแนวทางที่พอจะช่วยให้ชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้ ได้อยู่คู่มนุษย์โลกต่อไปได้ คือ ต้องมีการจัดการพื้นที่การเกษตรด้วยความรอบคอบระมัดระวัง เช่น รักษาแหล่งธรรมชาติรอบ ๆ พื้นที่การเกษตร ลด/งดการใช้สารเคมี ปลูกพืชที่หลากหลาย ส่วนในเขตเมืองควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพื่อให้แมลงสำคัญได้อาศัยอยู่และเติบโตได้6 อย่างไรก็ตามการจะทำเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อ มนุษย์ตระหนักว่า แมลง มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของเรามากเพียงใด  

ฝูงตั๊กแตนระบาดในแปลงเกษตรและทำลายพืชผลของเกษตรกรในกรุงกาฐมาณฑุ (Kathmandu) ประเทศเนปาล
ภาพ: https://english.onlinekhabar.com/a-swarm-of-locusts-are-likely-to-come-to-nepal-why-is-it-a-concern-for-country.html

    


อ้างอิง

  1. สุธีมนต์ คำคุ้ม. (2565). งานวิจัยชี้ ประชากรแมลงกำลังลดลงเกือบครึ่งหนึ่งทั่วโลก เกิดอะไรขึ้น. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2565 จาก https://www.springnews.co.th/spring-life/823478
  2. ทักษิณา ข่ายแก้ว. (2560). งานวิจัยชี้ 'แมลง' เริ่มหายไปจากโลก อาจสร้างผลกระทบที่ร้ายแรงตามมา. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2565 จากhttps://www.voathai.com/a/insect-collapse-tk/4793889.html
  3. ศิริณี พูนไชยศรี, ชลิดา อุณหวุฒิ, ลักขณา บำรุงศรี, ยุวรินทร์ บุญทบ, สุนัดดา เชาวลิต และสิทธิศิโรดม แก้วสวัสดิ์. (2551). การศึกษาชนิดแมลงหายากใกล้สูญพันธุ์. กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
  4. ชฎาภรณ์ เฉลิมวิเชียรพร, ยุวรินทร์ บุญทบ, สุนัดดา เชาวลิต, ชมยพร บัวมาศ, อิทธิพล บรรณาการ และสิทธิ ศิโรดม แก้วสวัสดิ์. (2553). ชนิดแมลงหายากและใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย. รายงานผลงานวิจัยปประจำปี 2554 สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร
  5. รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์. (มีนาคม 13, 2563). มลภาวะทางแสงคือมหันตภัยที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ของแมลง. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2565 จาก https://tinyurl.com/43dzvzrb
  6. Helen Briggs. (April 20, 2022). Climate change and farming driving insect decline. Retrieved 14 August 2022 from https://www.bbc.com/news/science-environment-61165279

 

    

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333