บทความสั้น
กฎหมายคาร์ซีทในไทย กับความเป็นเป็นไปได้ในสังคม
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | สิงหาคม 2565

  

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ที่มีการบังคับใช้เรื่อง “เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี และคนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 ซม. ต้องนั่งในที่นั่งนิรภัยหรือคาร์ซีท (เบาะที่นั่งในรถสำหรับเด็ก) เมื่อเดินทาง หรือหาวิธีป้องกันสำหรับเด็กที่โดยสารบนรถ โดยให้มีผลบังคับใช้ใน 120 วัน หลังจากนั้นจะมีการปรับ-จับ” นับได้ว่าก็เกิดเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

หากจะว่าไปแล้ว ในหลายๆ ประเทศตะวันตก ได้มีการบังคับใช้กฎหมายนี้มานานแล้ว เพื่อความปลอดภัยจากอุบัติเหตุจราจรของเด็ก แต่ในบ้านเรานิยมให้เด็กนั่งที่ตักแทนการให้นั่งที่คาร์ซีท (แถมไม่คาดเข็มขัดนิรภัย) เพราะคิดว่าหากเกิดอะไรขึ้นผู้ที่อุ้มเด็กน่าจะปกป้องเด็กได้ด้วยการกอด การใช้คาร์ซีทมีการใช้ในบางกลุ่มเท่านั้น อันเนื่องมาจากหลากหลายสาเหตุ เช่น คาร์ซีทมีราคาสูง มีราคาตั้งแต่ 2,000 บาท จนถึงหลักหมื่น มองว่าการเดินทางเป็นระยะทางสั้นๆ เท่านั้นไม่มีความจำเป็น หรือขับขี่ด้วยความเร็วต่ำคงไม่เกิดอุบัติเหตุ เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านเราไม่เห็นความจำเป็นของการใช้คาร์ซีท อีกทั้งคาร์ซีทก็เหมาะสมกับรถบางประเภทเท่านั้น ซึ่งในบ้านเราก็มักนิยมใช้รถมอเตอร์ไซต์ หรือใช้รถกระบะตอนเดียว หากมีการติดตั้งคาร์ซีทสำหรับเด็กก็จะทำให้มีที่นั่งไม่เพียงพอที่อาจจะนั่งได้เพียงแค่คนขับ และเด็กเท่านั้น

ทราบหรือไม่ว่า “ในปี 2546-2556 ‘อุบัติเหตุจราจร’ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของเด็กไทยรองลงมาจากการจมน้ำ”1

เมื่อเห็นสถิตินี้ เข้าใจว่าหลายๆ คน คงตกใจกับการสูญเสียที่ไม่อันควรเช่นนี้ และพอจะเข้าใจเจตนาอันดีของกฎหมายที่ออกมานี้ แต่กระนั้นก็ตาม ไม่ใช่พ่อแม่ที่มีลูกเล็กที่อยู่ในวัยนี้ทุกคนที่จะมีความพร้อมทางการเงินที่จะซื้อคาร์ซีทได้ ต้องยอมรับว่า ด้วยสภาวะในตอนนี้ การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุดลง น้ำมันขึ้นราคา ภาวะเศรษฐกิจที่รัดตัว ข้าวของเครื่องใช้มีราคาแพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ การหาซื้อคาร์ซีทที่มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญน้อยกว่าเรื่องปากท้องเป็นแน่

สิ่งที่สำคัญ ภาครัฐควรออกมาตรการรองรับกับกฎหมายที่ออกมาด้วย เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงคาร์ทซีทที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบายการช่วยเหลือเรื่องคาร์ซีทในกลุ่มที่จำเป็น หรือลดราคา ลดภาษีนำเข้าต่างๆ หรือการจัดหาควบคุมคาร์ซีทที่มีคุณภาพแก่ประชาชน นอกจากนี้แล้วการให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญ ประโยชน์ และการให้เด็กนั่งคาร์ซีทที่ถูกวิธีก็เป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย

ประเด็นกฎหมายคาร์ซีทที่จะมีการบังคับใช้ในบ้านเราในเวลาอันใกล้นี้ ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง และตามติดกันต่อไป...


อ้างอิง

  1. กฎหมาย ‘คาร์ซีท’ เจตนาดี แต่ทำไมยังมีข้อถกเถียง. 12 พฤษภาคม 2565. Workpointtoday จาก https://workpointtoday.com/car-seat-law-in-thailand-why-people-against/

 

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333