บทความสั้น
ปี 2564 ประเทศไทยติดอันดับ 9 ของประเทศที่เสี่ยงภัยจากภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | มิถุนายน 2565

German Watch เป็นหน่วยงานที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับความเสมอภาค และการดำรงชีวิตของมนุษยชาติ ซึ่งรวมถึงการเกาะติดสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และการเคลื่อนไหวเพื่อดำรงรักษาสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการรายงาน Global Climate Risk Index (Global CRI) ออกมาเป็นประจำทุกปี เพื่อจัดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประมวลจากข้อมูลสำคัญ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ซึ่งวัดจากยอดผู้เสียชีวิต ผลกระทบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจ และจำนวนเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวบรวมข้อมูลโดย Munich Re NatCatSERVICE

Global CRI 2021 เป็นการรายงานดัชนีความเสี่ยงล่าสุด โดยรวมรวมข้อมูลระหว่างปี 2000 – 2019 ซึ่งข้อสรุปในภาพรวมรายงานว่า ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมามียอดผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศราว 475,000 รายทั่วโลก มูลค่าความเสียหายทางธุรกิจราว 2.56 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากภัยพิบัติมากกว่า 11,000 ครั้ง

ตารางด้านล่างแสดงประเทศที่เสี่ยงภัยต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ 10 อันดับแรก ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเดิม มีการสลับลำดับขึ้นลงบ้างเพียงเล็กน้อย (ข้อมูลเฉลี่ยรายปี)
เมื่อปี 2563 ประเทศไทยรั้งอันดับที่ 8 เมื่อถัดมาอีก 1 ปี ปรากฏว่าดีขึ้น 1 อันดับ (อยู่อันดับที่ 9) โดยมีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงราว 140 คน มูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหายราว 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากภัยพิบัติ 146 ครั้ง

ประเทศไทยติด 10 อันดับแรก เป็นครั้งแรกหลังจากที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นร้อยละ 87 ของความเสียหายจากภัยพิบัติทั้งหมดในรอบระยะเวลา 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2543 – 2554)1

นอกจากนี้จะสังเกตเห็นว่าทั้ง 10 อันดับแรกล้วนเป็นประเทศกำลังพัฒนา ในจำนวนนี้มีประเทศในเอเชียใต้ 3 ประเทศคือ บังคลาเทศ (อันดับที่ 7) ปากีสถาน (อันดับที่ 8) และเนปาล (อันดับที่ 10) อเมริกาเหนือ 3 ประเทศคือ เปอร์โตริโก (อันดับ 1) เฮติ (อันดับ 3) และบาฮามาส (อันดับที่ 6)  แอฟริกา 1 ประเทศคือ โมซัมบิก (อันดับที่ 5) ส่วนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอีก 2 ประเทศคือ พม่า (อันดับ 2) และฟิลิปปินส์ (อันดับ 4) ซึ่งจากรายงาน Climate risk and response in Asia 20202  ระบุว่าประเทศแถบเอเซียจะเป็นด่านหน้าในการรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับผลกระทบมากกว่าภูมิภาคอื่นใดในโลกตารางแสดง 10 ประเทศที่เสี่ยงภัยต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เฉลี่ยต่อปี)

CRI
2000 - 2019
(2000 – 2018)
ประเทศ คะแนน CRI จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 1 แสนคน มูลค่าความเสียหาย (ล้าน US$) PPP ร้อยละความเสียหายต่อ GDP จำนวนเหตุการณ์ภัยพิบัติ
1 (1) เปอร์โตริโก 7.17 149.85 4.12 4149.98 3.66 24
2 (2) เมียนมา 10.00 7056.45 14.35 1512.11 0.80 57
3 (3) เฮติ 13.67 274.05 2.78 392.54 2.30 80
4 (4) ฟิลิปปินส์ 18.17 859.35 0.93 3179.12 0.54 317
5 (14) โมซัมบิก 25.83 125.40 0.52 303.03 1.33 57
6 (20) บาฮามาส 27.67 5.35 1.56 426.88 3.81 13
7 (7) บังคลาเทศ 28.33 572.50 0.38 1860.04 0.41 185
8 (5) ปากีสถาน 29.00 502.45 0.30 3771.91 0.52 173
9 (8) ไทย 29.83 137.75 0.21 7719.15 0.82 146
10 (9) เนปาล 31.33 217.15 0.82 233.06 0.39 191

ที่มา: German Watch (2021). Global Climate Risk Index 2021. Germanwatch e.V., Bonn.
สืบค้นจากhtttps://www.germanwatch.org/sites/default/files/Global%20Climate%20Risk%20Index%202021_2.pdf เมื่อ 22 พฤษภาคม 2565


อ้างอิง

  1. Eckstein, D., Künzel, V., & Schäfer, L. (2017). Global climate risk index 2018. Germanwatch, Bonn. สืบค้นจาก https://www.germanwatch.org/sites/default/files/publication/20432.pdf สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2565.
  2. Woetzel, J., Pinne, D., Samandari, H., Engel, H., Krishnan, M., Boland, B., & Powis, C. (2020). Climate Risk and response. McKinsey Global Institute. Retrieved from http://dln.jaipuria.ac.in:8080/jspui/bitstream/123456789/10847/1/MGI-Climate-risk-and-response-Full-report-vF.pdf on May 21, 2022.

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333