บทความสั้น
#SAVEบางกลอย กับประเด็นเรื่องสิทธิทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ (ตอนที่ 1)
Home / บทความสั้น

ทีมวิชาการสุขภาพคนไทย และผู้เขียนร่างแรก (ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์)
สถานการณ์เด่น | พฤษภาคม 2565

“ความขัดแย้งในพื้นที่บางกลอยในผืนป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นภาพสะท้อนปัญหาในเรื่องสิทธิที่ดินทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ใช่เพียงชาวกะเหรี่ยงที่บางกลอยเท่านั้น”

ภายหลังการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี 2524 ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่กลางป่าแก่งกระจาน ได้ถูกภาครัฐเคลื่อนย้ายให้ลงมาอยู่ที่บางกลอยล่างหลายระลอก แต่เนื่องจากพื้นที่ใหม่ไม่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ชาวบ้านจึงได้เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม และขอกลับเข้าไปยังใจภูมิลำเนา ต่อมาบางกลอยเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการรณรงค์ของภาคประชาชนด้วย Hashtag ซึ่งเป็นการเรียกร้องสิทธิมิใช่เฉพาะชาวกะเหรี่ยงบางกลอย แต่หมายรวมถึงราษฎรหลากกลุ่มที่ต้องการเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนชายขอบ หรือคนกลุ่มอื่นๆ บทความนี้ เป็นการอภิปรายถึงความเป็นมาและปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิทำกินของชาวกะเหรี่ยงที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน การเรียกร้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในเรื่องที่ดินทำกิน และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา

ความเป็นมาและปัญหาความขัดแย้งพื้นที่บางกลอย

“บางกลอย” เป็นชื่อหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ตั้งอยู่กลางป่าแก่งกระจานที่ชาวบ้านเรียกว่า “ใจแผ่นดิน” ชาวบางกลอยมีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ทำไร่หมุนเวียนในบริเวณนี้มานาน กระทั่งปี พ.ศ. 2524 บ้านใจแผ่นดินถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน1 ต่อมาปี 2539 ชาวกะเหรี่ยงถูกอพยพจากใจแผ่นดินลงมาที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย โดยได้รับคำสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินให้ทำกิน ส่วนหนึ่งได้รับการจัดสรรที่ดิน แต่การปลูกข้าวประสบปัญหาเนื่องจากเป็นพื้นดินปนหิน และมีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน และเข้าไม่ถึงโครงการความช่วยเหลือ ทำให้บางส่วนตัดสินใจกลับคืน “ใจแผ่นดิน” อีกครั้ง ก่อนที่จะถูกผลักดันให้ลงมาที่บ้านบางกลอยล่างอีกครั้งหนึ่งในปี 2554 จนนำไปสู่กระแสเรียกร้องเรื่องสิทธิที่ดินทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเวลาต่อมา

หมู่บ้านบางกลอยตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองที่ พ.ศ. 2457 อยู่หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ห่างจากที่ว่าการอำเภอแก่งกระจานประมาณ 54 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง “สกอว์” (ปกาเกอะญอ) บริเวณเหนือสุดของตำบล มีแม่น้ำบางกลอยไหลผ่าน อันเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำเพชรบุรี หรือที่ในภาษาถิ่นเรียกว่า “คลี้เหลาะ” (Kleh looj) ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ปักผ้า ทอผ้า และรับจ้างทั่วไป มีรายได้ไม่แน่นอน บางกลอยในปัจจุบันเป็นคำเรียกรวม ๆ ของสองพื้นที่คือ “บางกลอยบน” อันเป็นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมหรือ “ใจแผ่นดิน” กับ “บางกลอยล่าง” ซึ่งชาวบ้านถูกย้ายให้ลงมาอยู่2

เนื่องจากทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและหน่วยทหารเห็นสอดคล้องกันว่าพื้นที่ “ใจแผ่นดิน” มีความเสี่ยงและอ่อนไหวต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่นคงตามแนวชายแดน โดยเฉพาะจากการอพยพข้ามพรมแดนไปมาของคนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น จึงมีการอพยพชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงออกจากพื้นที่ การอพยพครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2539 โดยโยกย้ายชาวบ้านจากพื้นที่ใกล้เขตชายแดนไทย-พม่ามายังพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ ตรงข้ามหมู่บ้านโป่งลึกในปัจจุบัน ราว 57 หลังคาเรือน (โดยได้รับที่ดินทำกินครอบครัวละ 7 ไร่ และที่อยู่อาศัยอีก 1 ไร่) จากนั้น ได้ดำเนินการอพยพชาวบ้านอีกเป็นระยะ ๆ3

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีนโยบายสนับสนุนให้ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ขึ้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของยูเนสโก (UNESCO) ในปี 2553 (ก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนในปี 2564) เนื่องจากเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน มีสัตว์หายากนานาชนิด นโยบายนี้ตามมาด้วย “ยุทธการตะนาวศรี” ระหว่างปี 2553-2554 ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ สนธิกำลังร่วมกับทหารผลักดันให้ชาวกะเหรี่ยงย้ายลงมาที่บ้านโป่งลึกหรือบางกลอยล่างนั่นเอง4

ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้นายโคอี้ มิมิ หรือ “ปู่คออี้” ชาวกะเหรี่ยงอาวุโสอายุ 100 ปี พร้อมกับชาวบ้านอีก 5 คน ร่วมกันฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต่อศาลปกครอง เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ยิ่งไปกว่านั้น ปู่คออี้ยังร้องขอต่อศาลให้ชาวกะเหรี่ยงกลับไปอยู่อาศัยบนพื้นที่บริเวณเดิมได้ ในคดีนี้มีพยานปากเอกคือ “บิลลี่” หรือนายพอละจี รักจงเจริญ หลานชายปู่คออี้ แกนนำชาวบ้าน และเป็นสมาชิก อบต. ห้วยแม่เพรียง แต่ก่อนที่ “บิลลี่”จะไปให้ถ้อยคำกับศาลเพียง 1 เดือน บิลลี่ได้หายตัวไปอย่างเป็นปริศนาในวันที่ 17 เมษายน 2557 ต่อมา ภรรยาของบิลลี่เข้าแจ้งความว่านายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับพวกเป็นกลุ่มคนซึ่งควบคุมตัวบิลลี่ไปก่อนการสาบสูญ ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ค้นพบโครงกระดูกที่มี DNA ตรงกับแม่ของบิลลี่อยู่ในถังใต้น้ำภายในเขตป่าแก่งกระจาน แต่ไม่มีหลักฐานแน่นหนาพอที่จะมัดตัวใคร ในที่สุด อัยการจึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในทุกข้อกล่าวหา เช่นเดียวกับศาลฎีกาที่สั่งยกคำร้องในคดีที่ภรรยาของบิลลี่ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน ซึ่งศาลระบุว่าผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานที่จะทำให้เชื่อได้ว่าเหยื่อถูกควบคุมตัวจริง5 นอกจากกรณีบิลลี่ ยังมีกรณีของนายทัศน์กมล โอบอ้อม อดีตผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดเพชรบุรี ที่มีบทบาทเป็นผู้ประสานงานของกลุ่มกะเหรี่ยงในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ถูกลอบยิงเสียชีวิต โดยไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้6

สำหรับคดีที่ชาวบ้านฟ้องกรมอุทยานฯ ต่อศาลปกครองนั้น ในวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุโดยการเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียปัจจัยในการดำรงชีวิต จึงสั่งให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 300,987 บาท แต่ทั้งนี้ศาลยืนยันว่าไม่อนุญาตให้ชาวกะเหรี่ยงกลับเข้าไปอยู่ในป่าได้อีก เพราะถือเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ7

ความขัดแย้งระลอกใหม่ที่บางกลอยปะทุขึ้นอีกครั้งช่วงต้นปี พ.ศ. 2564 เมื่อชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้ตัดสินใจเดินเท้ากลับขึ้นไปยังบางกลอยบน เพราะเห็นว่าบางกลอยล่างไม่สามารถใช้อยู่อาศัย ทำกิน และดำรงชีพตามวิถีเดิมได้8,9,10 ต่อมาในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ตัวแทนภาครัฐได้ลงนาม MOU กับตัวแทนชาวบ้าน ซึ่งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 6 ข้อต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม11,12  แต่สถานการณ์จริงในพื้นที่กลับไม่ได้ดีขึ้นนัก โดย “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ซึ่งตามด้วยการขอออกหมายจับ และจับกุมชาวบ้านกว่า 30 คน เพื่อดำเนินคดีตามความผิดตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ13

มรดกโลกกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่า

กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่ เป็นแห่งที่ 3 ของไทย ตามมติของคณะกรรมการมรดกโลกในวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 โดยเข้าหลักเกณฑ์ข้อที่ 10 คือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก ซึ่งมีพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานรวมอยู่ด้วย โดยก่อนหน้านั้น คณะกรรมการมรดกโลกได้ปฏิเสธการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2558, 2559 และ 2562 ด้วยข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชุมชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก จึงยืนยันว่ารัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า มีนโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนกะเหรี่ยงในการบริหารจัดการพื้นที่ เช่นให้มีผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์จากบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย 2 คนร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา และได้จ้างงานชาวกะเหรี่ยงทำงานในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานด้วย14

ที่ผ่านมา มรดกโลกหลายแห่งได้รับประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ การสนับสนุนด้านองค์ความรู้และทุนสนับสนุนพันธกิจในการดำเนินการรักษาและฟื้นฟูแหล่งมรดกนั้น มีการเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรภาคการบริหารจัดการ ภาควิชาการ และภาคเอกชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชนท้องถิ่น15  โดยยังคงรักษาวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นให้ดำรงต่อไป ดังนั้น การประกาศให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลกนั้น จึงไม่ได้หมายความว่าจะต้องนำคนออกจากป่าแต่อย่างใด ดูได้จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติตั้งแต่ปี 2534 ปัจจุบันก็ยังมีชาวกะเหรี่ยงอยู่ 6 หมู่บ้าน โดยมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปรับระบบการผลิตใหม่เพื่อลดพื้นที่การทำไร่หมุนเวียน หรือลดระยะของรอบหมุนเวียนลงจาก 10 ปี มาเป็น 3-5 ปี16  คงต้องติดตามต่อไปว่าภาครัฐจะปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวในพื้นที่ป่าแก่งกระจานหรือไม่

เรื่องราวยังไม่จบเพียงเท่านี้ ติดตามต่อได้ในตอนหน้า ซึ่งเป็นภาคจบของเรื่องนี้กันค่ะ


อ้างอิง

  1. นับแต่ปี 2524 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณพื้นที่ป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ในท้องที่ ต.น้ำกลัดเหนือ กิ่ง อ.หนองหญ้าลาด อ.เขาย้อย และ ต.สองพี่น้อง ต.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ นับเป็นลำดับที่ 27 ของประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2522 ที่ให้รักษาสภาพป่าแก่งกระจานให้คงอยู่สืบไป
  2. สดานุ สุขเกษม. (2562). เรียนรู้จากการซ่อมสร้างชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย. กรุงเทพฯ: สำนักสื่อสารจัดการความรู้และนวัตกรรมชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน). หน้า 26.
  3. สดานุ สุขเกษม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 3.
  4. สรุปทุกอย่างให้เข้าใจ #SAVEบางกลอย เรื่องราวการต่อสู้ระหว่างอำนาจรัฐกับชาวกะเหรี่ยง. (2564, 7 มีนาคม). Workpoint Today. https://workpointtoday.com/explaine/
  5. ฎีกายกคําร้อง เมียหนุ่มบิลลี่ ฟ้อง-ชัยวัฒน์ อุ้มผัวสาบสูญ. (2558, 3 กันยายน). ไทยรัฐออนไลน์. https://www.thairath.co.th/news/local/522606
  6. ป่าปริศนา ฆ่า “ครูป๊อด-บิลลี่" จอมบงการยังลอยนวล. (2562, 3 กันยายน). คมชัดลึกออนไลน์. https://www.komchadluek.net/scoop/387045
  7. สรุปทุกอย่างให้เข้าใจ #SAVEบางกลอย เรื่องราวการต่อสู้ระหว่างอำนาจรัฐกับชาวกะเหรี่ยง. เรื่องเดียวกัน.
  8. ผู้ใหญ่บ้านเผยอยู่ต่อก็อดตาย เหตุกะเหรี่ยงบางกลอยอพยพกลับป่าแก่งกระจาน. (2564, 16 มกราคม). ประชาไท. https://www.prachatai.com/journal/2021/01/91219
  9. กะเหรี่ยงบางกลอยไม่หวั่นถูกดำเนินคดี หลังรัฐเข้าเจรจาให้ออกจากพื้นที่และอาจมีคดีตามมาหากไม่ยอม. (2564, 3 กุมภาพันธ์). ประชาไท. https://www.prachatai.com/journal/2021/02/91495
  10. อุทยานฯ ส่งทีมหารือชาวบางกลอยคืนถิ่น ชาวบ้านยื่น 3 ข้อเสนอ ให้เจรจาหลัง เม.ย. 64. (2564, กุมภาพันธ์). ประชาไท. https://www.prachatai.com/journal/2021/02/91551
  11. โดย MOU มีสาระสำคัญ ดังนี้ (1) ให้ชาวบ้านที่ประสงค์กลับไปทำไร่หมุนเวียน และดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สามารถกลับขึ้นไปอยู่อาศัย ทำกิน และดำเนินวิถีชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษได้ โดยรับรองสิทธิ์ในการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม (2) ยุติการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตั้งจุดตรวจและลาดตระเวนในหมู่บ้านบางกลอยล่าง รวมทั้งยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้าน 36 ครอบครัวที่กลับไปอยู่อาศัยและทำกินอยู่ที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน (3) ยุติการขัดขวางการขนส่งข้าว อาหาร และสิ่งของจำเป็นไปให้กับชาวบ้านบางกลอย (4) ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการด้านการยุติการจับกุม ดำเนินคดี และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในรูปแบบไร่หมุนเวียน (5) ในกรณีที่ชาวบ้านครอบครัวใดประสงค์จะอยู่บ้านบางกลอยล่าง ให้รัฐดำเนินการจัดสรรที่ดิน ทั้งที่อยู่อาศัยและทำกินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพื่อให้สามารถดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างมั่นคง (6) รัฐจะต้องยุติการดำเนินการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐในการตั้งจุดสกัดกั้น เดินลาดตระเวน และตรวจค้นสร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านบางกลอย และมีมาตรการในการคุ้มครองสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของสมาชิกชุมชนบางกลอยทุกคน
  12. ลงนาม MOU แล้ว ชาวบางกลอยกลับจากทำเนียบฯ แต่โดนขอให้เขียนประวัติระหว่างทางขึ้น. (2564, 17 กุมภาพันธ์). ประชาไท. https://www.prachatai.com/journal/2021/02/91730
  13. อุทยานฯ และ ปชช. แจ้งความเอาผิดผู้บุกรุกป่าแก่งกระจาน. (2564, 26 กุมภาพันธ์). ประชาไท. https://www.prachatai.com/journal/2021/02/91879
  14. ทส.ชี้ “กะเหรี่ยง” อยู่คู่ป่าแก่งกระจาน ทำข้อมูลส่งศูนย์มรดกโลก 1 ธ.ค.65. (2564, 30 กรกฎาคม). Thai PBS. https://www.news.thaipbs.or.th/content/306542
  15. จักรี โพธิมณี. (2564, 21 สิงหาคม). ความน่าจะเป็นของมรดกโลกแบบผสมผสาน (Mixed Heritage): กรณีกลุ่มป่าแก่งกระจาน, SDG MOVE. https://www.sdgmove.com/2021/08/21/sdg-insights-mixed-heritage-possibility-kaeng-krachan/
  16. บางกลอย: “ป่าปลอดคน” หรือ “คนอยู่กับป่า” อนาคตป่าแก่งกระจานกับการเป็นมรดกโลก. (2564, 19 มีนาคม). BBC Thai. สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2564: จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-56453842

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333