บทความสั้น
การเรียนออนไลน์ เมื่อโควิด-19 ระบาดระลอก 3
Home / บทความสั้น

กัญญาพัชร สุทธิเกษม คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | มิถุนายน 2564

เมื่อโควิด-19 ยังไม่จบ การเรียนออนไลน์ก็วนมาอีกครั้ง นับรวมเวลาแล้ว เด็ก ๆ ไม่ได้ไปโรงเรียนเกือบปี มาแล้ว ไม่ต้องเอ่ยถึงผลกระทบที่มีการพูดถึงมาตลอด ทั้งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก โดยเฉพาะเด็กนักเรียนในต่างจังหวัดบางแห่ง ที่โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตของเด็ก และจัดหาอาหารเช้า กลางวัน เย็น แทนครอบครัว การเรียนออนไลน์ยังกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กที่จะไม่ได้เล่นกับเพื่อน และขาดชีวิตสังคมในโรงเรียน  กระทบต่อการเรียนรู้ที่ขาดช่วง รวมถึงส่งผลต่อความเครียดและวิตกกังวลของพ่อแม่และครอบครัว ที่จะต้องดูแลจัดหาอุปกรณ์ นั่งเรียนออนไลน์พร้อมกับลูกหลานและสอนการบ้าน

โควิด-19 ระบาดในระลอก 3 นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ความหวังที่จะเปิดเทอมในเดือนพฤษภาคมของเด็กและพ่อแม่ก็กลายเป็นฝันสลาย แล้วการเรียนออนไลน์ก็วนกลับมาใหม่อีกครั้ง

มาคราวนี้ หลายโรงเรียนมุ่งมั่นกับการเรียนการสอนเอามาก ๆ ครูประจำชั้นตั้งไลน์กลุ่มห้องเรียน เชิญครูที่สอนทุกวิชาเข้ามาในกลุ่ม มีเด็กนักเรียนทั้งห้องอยู่ในไลน์ อีกไลน์เป็นกลุ่มของครูประจำชั้นและผู้ปกครองกว่า 100 คน รวมเอาพ่อแม่และสมาชิกครอบครัวของเด็กอยู่ในนั้น ครูประจำชั้น เช็คชื่อนักเรียนทุกเช้า ตั้งแต่ 8 โมง เช้าเช่นเดียวกับการ Home room โดยนักเรียนต้องเปิดกล้องแสดงตัวว่านั่งเรียนจริง หากใครไม่เปิดกล้อง ครูจะแจ้งเลขที่เด็กให้ผู้ปกครองทราบในไลน์ และถือว่าเด็กขาดเรียน ในหนึ่งวันของการเรียน มีหลายวิชาที่เด็กต้องเปิดกล้องแสดงตัว ทำให้เด็กต้องนั่งติดเก้าอี้เป็นชั่วโมงในรายวิชานั้น ซึ่งทำให้เด็กขาดสมาธิในการเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็ก บางวิชา ให้เด็กทำการบ้านส่งหลังเรียนจบ หากไม่ส่ง ครูก็จะแจ้งชื่อหรือเลขที่ของเด็กในไลน์กลุ่มว่าไม่ส่งการบ้าน หรือ มีการวิจารณ์การบ้านของเด็กลงในไลน์ห้อง ทำให้เด็กอับอาย ฉะนั้นไม่ต้องจินตนาการว่า เด็กจะรู้สึกวิตกกังวลหรือเครียดแค่ไหน ในกลุ่มเด็กเล็กจึงต้องมีผู้ปกครองนั่งเรียนและช่วยทำการบ้าน ขณะที่บรรยากาศของการเรียนในหลายวิชาไม่ต่างจากการเรียนรูปแบบเดิม คือ เปิดหนังสือดูตามครู หรือให้เด็กดูคลิปเรียนเอง โดยไม่มีสิ่งกระตุ้นความสนใจ เด็ก ๆ จึงรู้สึกว่าเบื่อหน่าย และล้า เพราะต้องนั่งจ้องมือถือหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ ซึ่งอาจไม่ได้ผลตามที่ครูคาดหวัง มีบ้างบางวิชา ที่กระตุ้นเด็กว่าจะให้คะแนนหากตอบคำถามหรือคำศัพท์ได้ แต่เมื่อเด็กทุกคนมีความพร้อมไม่เท่ากัน วิธีนี้ก็ใช้ได้ผลกับเด็กบางคนที่พร้อมกว่าเท่านั้น  

เมื่อถอดบทเรียน จึงพบว่า นอกจากความไม่พร้อมของเด็กและผู้ปกครองแล้ว ครูก็เป็นกลุ่มที่ไม่พร้อมอย่างมากทั้งความรู้และทักษะการจัดการเทคโนโลยี เช่น การแปลงเนื้อหาเพื่อสื่อสารทางออนไลน์กับเด็ก การนำเนื้อหาแขวนทางออนไลน์ การกำหนดเวลาส่งการบ้าน รวมทั้งทักษะการสอนออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่การเรียนการสอนแบบในห้องเรียน ทั้งในเรื่องการดึงความสนใจเด็กในรายวิชานั้น ๆ การกำหนดเวลาเรียน เวลาพักให้เหมาะสม ขณะที่ครูส่วนใหญ่ยังละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเด็ก โดยให้ตั้งชื่อจริงหรือเลขที่ในไลน์ ทั้ง ๆ ที่ครูสามารถจัดการได้เอง รวมไปถึงบังคับให้เด็กเปิดกล้องแสดงตัวขณะเรียนออนไลน์ หรือวิจารณ์เด็กผ่านไลน์สาธารณะ เป็นต้น

โควิด-19 ได้ผลักให้ระบบการศึกษาต้องปรับตัวรวดเร็วอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครรู้ได้ว่า โควิด-19 จะจบลงเมื่อใด และแม้ว่าจะไม่มีโควิด-19 แล้ว การศึกษาก็จะถูกทำให้เปลี่ยนด้วยเหตุผลอื่นอยู่ดี จึงไม่ควรผลักภาระการเรียนออนไลน์ไปให้กับครูหรือเด็ก จะดีกว่า หากทุกคนที่เกี่ยวข้องตั้งเป้าหมายและปรับวิธีคิดในเรื่องประสิทธิภาพและผลลัพธ์ทางการศึกษา เพื่อที่จะสามารถวางแผนปรับตัวได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะอย่างไรก็ตาม การเรียนออนไลน์เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในช่วงที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 อยู่  
            


ภาพประกอบ www.freepik.com


Related Topics : การศึกษา

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333