บทความสั้น
น้ำท่วมซ้ำซาก ผลกระทบ และการปรับตัว (ตอนที่ 2)
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | เมษายน 2565

การบริหารจัดการน้ำท่วมของไทย

หลังมหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติอันเนื่องมาจากวิกฤตน้ำจากผลพวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้กำหนดให้ภัยพิบัติน้ำเป็นปัญหาวิกฤตเร่งด่วนของประเทศที่จะต้องเร่งแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะแรกได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างแผนแม่บทของการบริหารจัดการน้ำท่วม (Flood Management Master Plan) เป็นการเฉพาะกิจโดยมุ่งเน้นที่จะบรรเทา ป้องกัน และลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วม และปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการป้องกันและการบริหารจัดการน้ำท่วมในสภาวะฉุกเฉิน โดยได้นำเสนอมาตรการป้องกันน้ำท่วมทั้งแบบใช้สิ่งก่อสร้าง (structural measures) เช่น การเพิ่มจำนวนและขนาดความจุเก็บกักของอ่างเก็บน้ำ การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก การปรับปรุงทางน้ำ (channel improvement) และการก่อสร้างทางระบายน้ำท่วม (floodway) เป็นต้น และมาตรการแบบไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง (non–structural measures) เช่น นโยบาย “Room for the Rivers” ด้วยการกำหนดพื้นที่แก้มลิงเพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำนอง (flood retention area) ขนาดใหญ่ในช่วงฤดูน้ำหลากและชะลอการเกิดน้ำท่วมแบบฉับพลัน ร่วมกับการกำหนดแผนการผันน้ำที่เหมาะสมในพื้นที่รับน้ำนอง และการดำเนินมาตรการจ่ายเงินชดเชยให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม เป็นต้น1 นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2560 รัฐบาลยังได้มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยมีพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 (Water Resources Act, B.E. 2561) และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561–2580) (The 20–year Master Plan on Water Resources Management, B.E. 2561–2580) เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำของประเทศตามแนวทางการพัฒนาประเทศของยุทธศาสตร์ชาติ 

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มุ่งเน้นไปที่การมีกฎหมายในการบูรณาการในการจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ การพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การอนุรักษ์และการฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ และสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ รวมทั้งจัดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อเพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกระดับร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันอย่างเป็นระบบ2 โดยให้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นองค์กรหลักในระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีคณะกรรมการลุ่มน้ำเป็นกลไกในการขับเคลื่อนในระดับลุ่มน้ำ รวมทั้งการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่มีการใช้น้ำในแหล่งเดียวกันในรูปแบบขององค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม

สำหรับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561–2580) ให้ความสำคัญกับทรัพยากรน้ำในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อมุ่งไปสู่การสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของทรัพยากรบุคคลในอนาคต โดยพัฒนาขึ้นตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และฟื้นฟู และการพัฒนาแหล่งน้ำ ครอบคลุม 6 ด้านหลัก ได้แก่3 ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค (water consumption management) ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (building water security in the production sector) ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย (flood management) ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ (water quality management and water resources conservation) ด้านที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน (conservation and rehabilitation of degraded watershed forest and soil erosion protection) และด้านที่ 6 การบริหารจัดการ (management) อย่างไรก็ดี ประเด็นการจัดการภัยแล้ง (drought management) ในแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ยังได้รับความสำคัญค่อนข้างน้อย ยิ่งไปกว่านั้น กรอบปฏิบัติตามแนวทางของแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ยังขาดความเชื่อมโยงร่วมกันทั้งเป้าประสงค์ (objective) แผนกลยุทธ์ (strategic plan) แนวทางขับเคลื่อน (way forward) และตัวชี้วัดความสำเร็จ (indicator) ในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก พ.ศ. 2564 (COP26) 

แนวทางการบริหารจัดการน้ำในอนาคต

การสร้างกลไกการรับรู้ของประชาชนผ่านนโยบายและองค์กรต่างๆ ของรัฐ และการปรับตัวของประชาชนและชุมชนด้วยตัวเองเพื่ออยู่ร่วมกับภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซากโดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จะเป็นส่วนสำคัญในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในระดับพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแผนการป้องกันภัยน้ำท่วม (flood protection plan) ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น การปรับตัวของชุมชนผ่านรูปแบบของมาตรการ “การกันน้ำท่วม (flood proofing)” และ “การสู้ภัยน้ำท่วม (flood fighting)” ซึ่งประชาชนสามารถเรียนรู้ที่จะเผชิญเหตุน้ำท่วมได้เองจากประสบการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น การปรับรูปแบบการสร้างบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยเป็นอาคารสองชั้นในเขตพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก การยกระดับเสาของอาคารให้สูงขึ้นเหนือระดับน้ำท่วมสูงสุดที่เคยเกิดขึ้น การยกระดับคันดินในการปลูกสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างคันกระสอบทรายหรือทำนบกันน้ำท่วมเพื่อปิดล้อมพื้นที่ เมื่อเห็นว่าระดับน้ำในแม่น้ำกำลังเพิ่มระดับสูงขึ้นและมีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วม และการสร้างทางผันน้ำหรือระบายน้ำออกจากพื้นที่อ่อนไหว เป็นต้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตทางการเกษตร เช่น การเพาะปลูกพืชเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง และการปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงและสามารถต้านทานน้ำท่วมได้ดี เป็นต้น4

เป็นสัญญาณอันดีว่า ประเด็นวิถีใหม่ของการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมในระดับพื้นที่ชุมชน (new to next normal) ได้รับความสนใจมากขึ้นจากภาครัฐในการพัฒนาแผนระบบป้องกันน้ำท่วม อันเนื่องมาจากปัจจัยความหนาแน่นของการตั้งถิ่นฐานและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ปัญหาผังเมือง และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่กีดขวางเส้นทางจราจรน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้จัดทำนโยบายการใช้ที่ดินขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้จัดทำผังการใช้ที่ดินและบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 อีกทั้งได้บรรจุผังน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ไว้เป็นส่วนหนึ่งของผังเมืองอีกด้วย ในระหว่างปี พ.ศ. 2558–2562 กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดทำแผนหลักระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนของทุกจังหวัด และจัดทำผังการระบายน้ำจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมดของประเทศ เพื่อกำหนดกรอบและทิศทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำในอนาคต อีกทั้งเป็นการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นอกจากนี้ ในช่วงปี 2562–2564 กรมโยธาธิการและผังเมืองยังได้พัฒนาโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดของระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวิถีใหม่ประกอบด้วย (1) พื้นที่ชุมชนในจังหวัดเพชรบุรี และ (2) พื้นที่ชุมชนในลุ่มน้ำภาคกลาง ครอบคลุม 13 พื้นที่ชุมชน5 ให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ชุมชนนั้นๆ อีกทั้งมีความเหมาะสมทั้งทางด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน6

สำหรับบทบาทของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระดับพื้นที่ชุมชนส่วนใหญ่แสดงออกมาในรูปแบบของการเสนอความคิดเห็นตั้งแต่ในระดับการจัดทำแผนนโยบายการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานภาครัฐ7 ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่เทศบาลนครปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในการจัดการชุมชนในขณะเผชิญเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 ได้ถูกเรียนรู้และถอดบทเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทขององค์กรผู้นำในระดับท้องถิ่นที่มีส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันภัยตนเองในระหว่างเผชิญเหตุการณ์วิกฤติและขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยในระหว่างเกิดเหตุการณ์ได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการกลางและศูนย์อำนวยการย่อยซึ่งตั้งอยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเฝ้าระวังและติดตามระดับน้ำ และกำแพงกันน้ำที่อาจได้รับความเสียหาย รวมทั้งได้จัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมฉุกเฉินและจัดตั้งชุดเฉพาะกิจตามภารกิจหลักของเทศบาล 8 ภารกิจ ได้แก่ หน่วยเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง หน่วยประชาสัมพันธ์ หน่วยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ หน่วยบรรเทาทุกข์ ศูนย์ฟื้นฟูผู้ประสบภัย หน่วยบรรเทาภัยฉุกเฉิน หน่วยส่วนร่วมชุมชน และหน่วยติดตามและประเมินสถานการณ์8 เป็นต้น

สรุป

ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเมืองและชุมชนในพื้นที่น้ำหลากตามธรรมชาติ การใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ที่ผ่านมาประเทศไทยได้พยายามเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต และกำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำท่วมและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ แต่การดำเนินงานของรัฐที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และการบริหารจัดการปัญหาในระดับพื้นที่ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของชุมชน ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วยแนวคิดจากล่างขึ้นบน (Bottom–Up Approach) จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการก้าวไปสู่การยกระดับวิถีชีวิตใหม่ที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนในอนาคต แนวทางการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวิถีใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นสัญญาณที่ดีว่าในอนาคตปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยอาจได้รับจัดการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น


อ้างอิง

  1. Global Water Partnership. (2017). เรื่องเดียวกัน.
  2. สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ. (2563). พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ’ 61 และแผนแม่บทน้ำ 20 ปี ฉบับพกพา. https://nongoo.go.th/public/list_upload/backend/list_1955/files_5279_1.pdf
  3. สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีเป้าประสงค์ในการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ที่มีการขาดแคลนน้ำ ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต มีเป้าประสงค์ในการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งเก็บกักน้ำและระบบส่งน้ำ และการจัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย กำหนดเป้าประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การจัดระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง การจัดการพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ชะลอน้ำ และการบรรเทาอุทกภัยเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ มีเป้าประสงค์ในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนและการนำน้ำเสียกลับมาใช้ซ้ำ การอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้านที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน มุ่งเน้นที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และการป้องกันการพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ลาดชัน และด้านที่ 6 การบริหารจัดการ มุ่งหวังที่จะมีองค์กรด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและกฎหมายที่ทันสมัย ตลอดจนการศึกษาวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
  4. คณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย. (2563). คู่มือการวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วมด้วยแนวทางไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง. กรุงเทพฯ: บริษัทมิตรภาพการพิมพ์และสติวดิโอ จำกัด.
  5. พื้นที่ดังกล่าวได้แก่ พื้นที่ชุมชนเมืองสมุทรสาคร พื้นที่ชุมชนกระทุ่มแบน พื้นที่ชุมชนบ้านโป่ง พื้นที่ชุมชนบางบาล พื้นที่ชุมชนเมืองสิงห์บุรี พื้นที่ชุมชนพนัสนิคม พื้นที่ชุมชนน้ำตาล พื้นที่ชุมชนบ้านแป้ง พื้นที่ชุมชนเมืองสมุทรสงคราม พื้นที่ชุมชนเมืองสระบุรี พื้นที่ชุมชนเมืองราชบุรี พื้นที่ชุมชนบางปะอิน และพื้นที่ชุมชนเมืองสระบุรี โดยครอบคลุมถึงพื้นที่ชุมชนต่อเนื่องบริเวณโดยรอบ
  6. พิศุทธิ์ สุขุม. (2564). วิถีใหม่ของการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ความจำเป็นที่ถึงเวลาต้องนำมาปฏิบัติ. http://203.170.248.248/coe-2/newsPic/N-20210811181949-1.ย.64).pdf
  7. แพรชมพู ประเสริฐศรี และปิยะดา วชิระวงศกร. (2558). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม กรณีศึกษาตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม. 
  8. วิภาวดี กฤษณะภูติ และกิตติศักดิ์ ปลาทอง. (2556). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการชุมชนในภาวะมหาอุทกภัยปี 2554: เรียนรู้ความสำเร็จจากชุมชนเทศบาลนครปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. มนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์, 30(2): พ.ค.–ส.ค. 2556

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333