บทความสั้น
สงครามรัสเซีย-ยูเครน ชะลอการฟื้นตัวจากโควิด-19 ของไทย
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | มีนาคม 2565

ประเทศไทยคาดหวังไว้มากกับปี 2565 แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2565 เป็นต้นมา กลับไปแตะระดับติดเชื้อรายใหม่เกิน 10,000 รายเป็นครั้งแรกของปี 2565 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ แต่ความรุนแรงของโรคที่ถึงขั้นคร่าชีวิตยังไม่มีทีท่าที่จะกลับไปรุนแรงเหมือนกับเมื่อกลางปี 2564 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนที่สามารถดำเนินการไปได้ในระดับหนึ่ง โดยจากข้อมูลของ Our World in Data ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าประชากรไทยได้รับวัคซีนแล้วประมาณร้อยละ 71 อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรู้และความเคยชินเกี่ยวกับการป้องกันตนเองและการอยู่ร่วมกับโควิด-19 มาแล้วเป็นปีที่ 3

ภาครัฐแสดงความตั้งใจอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะอย่างไรต้องเดินหน้าผ่อนคลายให้การทำมาหากินและการใช้ชีวิตกลับไปเหมือนเดิม แม้แต่กระทรวงศึกษาธิการก็พยายามให้เด็กกลับไปเรียนออนไซต์ให้ได้มากที่สุด1

แต่แล้วการเคลื่อนกำลังของรัสเซียเพื่อปฏิบัติการโจมตียูเครนเต็มรูปแบบ (Full scale) ทั้งภาคพื้นดิน ทะเล อากาศ และไซเบอร์ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่เป็นแค่การส่งสัญญาณเพื่อเจรจาต่อรอง แต่เป็นการแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนที่จะบุกยึดกรุงเคียฟ โดยไม่สนใจต่อกระแสการทัดทานจากนานาประเทศทั่วโลก

นี่เป็น ‘ไพ่พลิกเกม’ หรือ Wild Card ที่หงายขึ้นอีกใบติดๆ กันในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา!! หลังจากทั้งการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 การขาดแคลนวัคซีนในช่วงการระบาดปี 2563-2564 และปัญหาการจัดสรรวัคซีนที่ไม่ทั่วถึงคนทุกกลุ่ม แม้กระทั่งในปัจจุบัน รวมทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2564 และการกลายพันธุ์ของเชื้อในปี 2565 ที่ทยอยเข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ และทำให้การฟื้นตัวล่าช้าออกไป 

ลำพังความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจของรัสเซีย และยูเครนกับประเทศไทยแม้จะไม่มากนักหากมองจากสัดส่วนการเป็นคู่ค้าของทั้งสองประเทศ โดยที่รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 30 ในขณะที่ยูเครนเป็นอันดับที่ 63 ประเทศไทยขาดดุลการค้ากับทั้งรัสเซียและยูเครนมาโดยตลอด (ภาพที่ 1 ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก ไทย-รัสเซีย ไทย-ยูเครน พ.ศ.2554-2564) และลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่มีผลกระทบอยู่บ้างที่สินค้านำเข้าจากรัสเซียส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบโดยเฉพาะน้ำมันดิบ ถ่านหิน เหล็กกล้า2 ซึ่งจะมีผลต่อภาคการผลิตของไทย แต่อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งในปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวรัสเซียสะสมตลอดทั้งปีราว 1.4 ล้านคน3 ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และหลังจากไทยเปิดประเทศด้วยมาตรการ Test and Go ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก็พบว่า นักท่องเที่ยวจากรัสเซียเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้น สงครามที่เกิดขึ้นจึงอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้าไทยลดลง และทำให้การท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวช้าลงอีก

ทั้งหมดนี้ยังไม่สำคัญเท่ากับแนวโน้มที่สงครามจะมีความยืดเยื้อ เพราะขณะนี้นักวิเคราะห์ยังมองไม่เห็นทางออกที่เหมาะสำหรับทั้งรัสเซีย และประเทศกลุ่มนาโตที่ดูเหมือนสปอตไลท์ส่องไปที่สหรัฐอเมริกา แต่เจ้าตัวก็ยังไม่ได้แสดงทิศทางที่ชัดเจน และสงครามอาจขยายวงออกไปโดยเฉพาะในภาคพื้นยุโรป รวมทั้งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และบรรยากาศลงทุนโดยรวม ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะมีน้ำหนักที่จะกดดันเศรษฐกิจไทยมากกว่าปริมาณการค้าของไทยกับรัสเซียและยูเครน

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่หวังไว้ว่าปี 2565 นี้จะได้เริ่มขึ้นบ้าง คงต้องสะดุดลงอีกครั้ง

ภาพที่ 1 ปริมาณการนำเข้า-ส่งออกของไทย กับรัสเซียและยูเครน ระหว่าง พ.ศ.2554-2564 
แหล่งข้อมูล: ธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.bot.or.th/Thai/Statistics/EconomicAndFinancial/Pages/StatInternationalTrade.aspx

ภาพที่ 2 สัดส่วนของสินค้านำเข้าจาก และส่งออกไปยังรัสเซีย
แหล่งข้อมูล: Observatory of Economic Complexity (OEC) (November 2021). Russia-Thailand.
Retrieved from https://oec.world/en/profile/bilateral-country/rus/partner/tha on February 25, 2022.


อ้างอิง

  1. ไทยรัฐออนไลน์ (2 กุมภาพันธ์ 2565). 3 กระทรวง “ศธ.-มท.-สธ.” มั่นใจเปิดเรียน On Site พร้อมใช้แผนเผชิญเหตุ. https://www.thairath.co.th/news/politic/2305008
  2. Observatory of Economic Complexity (OEC) (November 2021). Russia-Thailand. Retrieved from https://oec.world/en/profile/bilateral-country/rus/partner/tha on February 25, 2022.
  3. กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา (25 มกราคม 2564). สถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ปี 2563 สืบค้นจาก https://www.mots.go.th/more_news_new.php?cid=599 สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2565
     

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333