บทความสั้น
ไทยผลิตยาเลิกบุหรี่จาก “เมล็ดจามจุรีสีทอง” 
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | มีนาคม 2565

ในปี 2564 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดคำขวัญว่า “COMMIT TO QUIT” ซี่งกระทรวงสาธารณสุขของไทยได้กำหนดคำขวัญว่า “เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้” ทางด้าน สสส. และภาคีเครือข่ายก็ได้ขับเคลื่อนให้สังคมไทยปลอดควันบุหรี่ โดยสนับสนุนมาตรควบคุมยาสูบ ส่งเสริมมาตรการสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ ให้ความรู้ถึงอันตรายของบุหรี่ ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกบุหรี่ และบริการบำบัดการติดบุหรี่และผลิตภัณฑ์นิโคติน เพื่อให้คนไทยเลิกบุหรี่ ทั้งในรูปแบบของการใช้ยาและไม่ใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ อาทิ คลินิกฟ้าใส ร้านยาอาสาพาเลิกบุหรี่ สายเลิกบุหรี่ 1600 การเสริมพลังชุมชนในการช่วยเลิกบุหรี่โดย อสม. เป็นต้น

สำหรับการใช้ยาเพื่อเลิกบุหรี่ นั้น ขณะนี้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการวิจัยเพื่อพัฒนายาเลิกบุหรี่ที่ชื่อว่า “ไซทิซีน” (Cytisine) ซึ่งเป็นสารสกัดธรรมชาติจาก “เมล็ดจามจุรีสีทอง” มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการถอนนิโคติน ทำให้ผ่อนคลายไม่หงุดหงิดในขณะที่เข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่ โดยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ มศว. ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สสส. และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยยาชนิดนี้ใช้มาก่อนหน้านี้แล้วในยุโรป ถือเป็นยาเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพดีและปลอดภัย จึงเป็นยาที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองและสนับสนุน โดยขณะนี้งานวิจัยของประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างที่เข้ารับบริการ เมื่อได้ผลการวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว อภ.จะทำการขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.) จากนั้นจะผลักดันยานี้ให้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) กล่าวว่า ไซทิซีน เป็นยาที่ดี ปลอดภัย ราคาถูก มีงานวิจัยนานาชาติรองรับว่ามีประสิทธิผลจริง การมียาเลิกบุหรี่คุณภาพดีและราคาถูก ผลิตได้เองโดยภาครัฐ จึงนับเป็นก้าวย่างสำคัญของบริการเลิกบุหรี่ในประเทศไทย ที่จะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นและหลีกหนีจากผลิตภัณฑ์ยาสูบได้อย่างถาวรยิ่งขึ้น จากสถิติของเครือข่ายคลินิกให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่เฉลี่ยใน 1 ปี มีผู้เข้ารับบริการที่ใช้ยาสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ 30-40% ในขณะที่รายที่ไม่ใช้ยาสามารถเลิกได้สำเร็จเพียง 10% และในกลุ่มที่เลิกด้วยตนเอง โดยไม่ได้เข้ารับบริการเลิกบุหรี่ไม่ว่ารูปแบบใดๆ จะมีโอกาสเลิกสำเร็จเพียง 5% เท่านั้น แต่ที่ผ่านมา การใช้ยาเลิกบุหรี่หรือนิโคตินทดแทนมีต้นทุนสูง ทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงยาเลิกบุหรี่ได้น้อย ในอนาคต เมื่อมีการผลิตไซทิซีนในประเทศ และเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ก็จะทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทั่วถึง และทำให้ประเทศไทยลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้ตามเป้าหมาย


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333