บทความสั้น
โฆษณาอาหารเสริมเกินจริง: ควรแก้ปัญหาอย่างไร? (ตอนที่ 2)
Home / บทความสั้น

ทีมวิชาการสุขภาพคนไทย และผู้เขียนร่างแรก (สถาพร อารักษ์วทนะ)
สถานการณ์เด่น | กุมภาพันธ์ 2565

หน่วยงานกำกับดูแลและหน้าที่

หน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการกำกับดูแลหลักสื่อโทรทัศน์ มี 3 หน่วยงาน คือ 1) ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 2) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และ 3) สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ กสทช. ดังนี้

1. ศรป. เป็นหน่วยงานที่ อย. จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยตรง เน้นการทำงานเชิงรุก แต่ไม่มีอำนาจบังคับใช้ตลอดเส้นทาง เมื่อมีการร้องเรียนหรือพบปัญหาดังกล่าว ศรป. จะสืบหาข้อเท็จจริงว่าผู้ใดเป็นผู้โฆษณาหรือเผยแพร่โฆษณาชิ้นนั้น จากนั้นจึงส่งหนังสือสั่งระงับโฆษณาให้กับผู้ที่กระทำความผิดควบคู่กับการส่งหนังสือเสนอให้สำนักงาน อย. อนุมัติดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดเพื่อนำมาเปรียบเทียบปรับตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนการดำเนินคดีที่มีโทษจำคุกจะส่งเรื่องต่อไปยัง บก.ปคบ. เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมาย ระยะเวลาการจัดการปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีอาจเพียงหนึ่งวันหรือหลายสิบวัน1 อย่างไรก็ตาม อย. อาจขอความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ หรือเฟซบุ๊ก ให้จัดการระงับ หรือ นำข้อมูลที่ผิดกฎหมายออกจากระบบให้ การขอความร่วมมือในลักษณะนี้จะทำให้สามารถจัดการปัญหาได้รวดเร็วขึ้นยิ่งกว่ากระบวนการทางกฎหมาย 

การส่งคดีต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้กระบวนการจัดการปัญหากับผู้กระทำความผิดล่าช้า เนื่องจากเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่มีขั้นตอนและใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน แต่หากกฎหมายให้อำนาจ อย. สามารถเปรียบเทียบปรับและมีบทกำหนดโทษในอัตราที่สูงได้ จะช่วยให้กระบวนการจัดการปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายผ่านสื่อออนไลน์จบลงได้รวดเร็วขึ้น และอาจยับยั้งไม่ให้ผู้กระทำความผิดทำผิดซ้ำได้อีก เนื่องจากมีโทษปรับที่ค่อนข้างสูงจนผู้ที่กำลังจะกระทำความผิดเกิดความกลัว ปัจจุบัน บทกำหนดโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น มีบทลงโทษที่น้อยเกินไป เช่น พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีบทลงโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท2

นอกจากนี้ ในส่วนของบุคคลมีชื่อเสียงนั้นก็ควรจะมีกฎหมายหรือใบประกอบวิชาชีพเพื่อมาควบคุมบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือ มีบทลงโทษกรณีที่ทำผิดจรรยาบรรณเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น เนื่องจากบทกำหนดโทษทางกฎหมายยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งไม่ให้ทำผิดซ้ำได้ อีกทั้ง อย. ควรต้องกลับมาพิจารณาและปรับปรุงข้อมูลประชาสัมพันธ์ที่เผยแพร่ออกไป เพื่อให้บุคคลที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทราบข้อกฎหมายอย่างถูกต้อง 

2. บก.ปคบ. กองกำกับการ 4 เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการดูแลและบังคับใช้กฎหมายเรื่องอาหารและยา จะรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในกรณีที่มีโทษจำคุก ซึ่ง อย. ไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ จึงต้องส่งเรื่องร้องเรียนมายัง บก.ปคบ. เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อ เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจาก อย. แล้ว บก.ปคบ. จะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่ การสืบสวน และ การสอบสวน กรณีที่มีโทษปรับเพียงอย่างเดียวจะทำเพียงการสืบสวนและพิจารณาจากหลักฐานที่ ศรป. ร้องเรียนเข้ามาและระบุมาว่าจะให้ดำเนินคดีกับผู้ใด จากนั้นจึงออกหมายเรียกผู้กระทำความผิดและสั่งปรับตามที่กฎหมายกำหนด3  หากออกหมายเรียกแล้วผู้กระทำความผิดไม่มารายงานตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐานฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับต่อไป นอกจากนี้ในบางกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องขอ ศรป. หาผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้าไปสอบสวน เพื่อให้ระบุว่าส่วนใดที่เป็นข้อความเกินจริง ส่วนระยะเวลาการดำเนินการเฉลี่ยของคดีต่างๆ อยู่ที่ประมาณ 2 เดือน เนื่องจากมีความแตกต่างกัน และหากมี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 เข้ามาเพื่อใช้ดำเนินคดีด้วยจะทำให้คดีล่าช้าไปอีก

3. กสทช. มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ) กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ดำเนินการใดๆ ที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญไม่ว่าด้วยวิธีการใดตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด ให้ กสทช. มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าว และ มีอำนาจปรับทางปกครองไม่เกินห้าล้านบาท และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งแสนบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง4

การกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ดังกล่าว ไม่รวมถึงสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตาม กสทช. มีอำนาจกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ซึ่งรวมถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider: ISP) หากในกรณีที่หน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายได้พิจารณาว่าการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตใดมีความผิดตามกฎหมาย อาจประสานให้ สำนักงาน กสทช. แจ้งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสกัดกั้นการเข้าถึงได้ ทั้งนี้ อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยทางเทคนิคในภาพรวมที่เป็นข้อจำกัดในการสกัดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้น เช่น กรณีข้อมูลจากต่างประเทศ หรือกรณีข้อมูลบน Social media platform

จาก MOU ที่ กสทช. ทำร่วมกับกับ อย. และอีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะมีการดำเนินการร่วมกันเพื่อตรวจสอบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายของ อย. ที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล โทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี และวิทยุ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยทำงานทั้งในเชิงรับเรื่องร้องเรียน และเชิงรุก โดยเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบการออกอากาศรายการหรือการโฆษณา รวมถึงบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการทางปกครอง ส่วนการพิจารณาการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ ให้เป็นไปตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง โดยให้ผู้ประกอบกิจการพิสูจน์ว่า ถ้อยคำในการออกอากาศรายการหรือการโฆษณานั้น มิได้เป็นการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค5

ทั้งนี้ ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการกำกับดูแลของ กสทช. มีอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1). เนื่องจากกิจการโทรทัศน์มีจำนวนมาก ทั้งในเชิงจำนวนของสถานีโทรทัศน์และเวลาการออกอากาศ อาจทำให้การตรวจสอบและการเฝ้าระวัง ไม่มีความครอบคลุม 2). กระบวนการทางปกครองมีวิธีการตามกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้โดยทันที จึงอาจทำให้การจัดการปัญหาทำได้ล่าช้ายิ่งขึ้น และ 3). การหารายได้ทางธุรกิจเป็นเป้าหมายหลักของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้โฆษณา ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ นักแสดง Influencer ฯลฯ ทำให้ถึงแม้มีความเข้าใจ แต่ก็ยังคงมีการกระทำความผิดซ้ำๆ อีกได้ 

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

เพื่อจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง ผู้ที่มีส่วนได้เสียทั้งภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล องค์กรต่างๆ และภาคประชาสังคม ควรพิจารณาแนวทางการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบและแนวปฏิบัติ ดังนี้

  1. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรออกแบบปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงาน ทั้งภายในหน่วยงานและระหว่างหน่วยงาน โดยพิจารณาลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น รวมถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการประสานงานและการจัดการปัญหาเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้เป็นระบบและรวดเร็วขึ้น
  2. หน่วยงานกำกับดูแลที่มีอำนาจในการลงโทษผู้กระทำผิด กรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ ควรพิจารณาลงโทษแบบต่างกรรมต่างวาระ เพื่อให้ผู้กระทำความผิดเข็ดหลาบ ไม่กล้าที่จะกระทำความผิดอีก 
  3. ในกรณีพบการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย อย. ควรประกาศให้ผู้บริโภคได้รับทราบ และแจ้งการประกาศนั้นๆ ไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อขอความร่วมมือให้ลงประกาศในที่ซึ่งผู้บริโภคเห็นได้ง่าย และต้องนำสินค้าออกจากระบบการขายภายใน 24 ชั่วโมง นับจากวันที่ อย. ประกาศคำวินิจฉัย นอกจากนี้ การให้บุคคลมีชื่อเสียงที่โฆษณาผิดกฎหมายเป็นผู้ออกมาพูดแก้ไขความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง อาจทำให้ข้อมูลดังกล่าวเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมากและตรงจุด
  4. สำหรับประเด็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น กระทรวงดิจิทัลฯ ควรเข้ามามีบทบาทในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่างๆ ยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานภาครัฐ ผ่านการเชื่อมโยงสารสนเทศจากหลายหน่วยงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลตามพันธกิจของกระทรวงฯ 
  5. สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลที่รับผิดชอบกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น อย. กระทรวงดีอี กสทช. ควรพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย ทั้งในส่วนบทกำหนดโทษ รวมถึงบทบาทและอำนาจของหน่วยงาน ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ หากทุกหน่วยงานสามารถร่วมกันออกแบบ และปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดขั้นตอนในการดำเนินการ หรือมอบหมายให้มีหน่วยงานหลักที่สามารถจัดการปัญหาได้จนเสร็จสิ้นกระบวนการ ก็อาจช่วยให้กระบวนการจัดการปัญหาเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
  6. องค์กรที่รวบรวมบุคคลมีชื่อเสียง (Influencer Agency) ควรมีการกำกับดูแลตนเองด้านวิชาชีพด้วย เนื่องจากมีบุคคลมีชื่อเสียงจำนวนมากที่สังกัดอยู่ในองค์กรเหล่านี้ โดยมีการออกกฎกติกา หากต้องการรับโฆษณาต่างๆ เช่น หากรับโฆษณาโดยไม่ได้มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจนทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการซื้อผลิตภัณฑ์ไปใช้ ก็จะถูกลงโทษและอาจจะถูกให้ออกจากองค์กรดังกล่าว เป็นต้น

สรุป

การโฆษณาเกินจริงผ่านสื่อโทรทัศน์และทีวีดิจิทัลเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก โดยเฉพาะ กลุ่มผู้สูงอายุและชาวบ้านในชุมชน ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปมากเท่าไหร่ ปัญหาโฆษณาเกินจริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น จึงเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบและแนวปฏิบัติ เพื่อให้เท่าทันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจรัฐและมาตรการกฎหมายเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จำเป็นต้องใช้อาศัยความร่วมมือจากภาคธุรกิจ และภาคประชาชนด้วย รวมทั้งการเปิดเผยฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณา และคำโฆษณาที่มีการขออนุญาตไว้ เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาเกินจริงโดยง่าย


  1. หากกรณีนั้นมีข้อมูลเก่าที่เคยดำเนินคดีมาแล้ว และไม่จำเป็นต้องสืบหาชื่อหรือที่อยู่ จะสามารถส่งหนังสือไปสั่งระงับโฆษณากับผู้กระทำผิดได้ภายในหนึ่งวัน แต่กระบวนการส่งหนังสือเสนอให้สำนักงาน อย. อนุมัติดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดเพื่อนำมาเปรียบเทียบปรับตามที่กฎหมายกำหนด จะติดปัญหาขั้นตอนราชการ คือ ต้องให้รองเลขาธิการลงนามก่อนจึงจะดำเนินการต่อได้ หรือ กระบวนการที่เป็นการดำเนินคดีอาญาจะต้องส่งหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน ซึ่งผู้กระทำผิดมีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ 15 วัน ว่าไม่ได้ทำ หรือ ไม่ได้เผยแพร่โฆษณาตามขั้นตอนวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองที่ระบุไว้
  2. ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร ทางวิทยุกระจายเสียงวิทยุ โทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใด เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือ ข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้น ให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 41 มีบทลงโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  3. กรณีที่ผู้กระทำความผิดปฏิเสธการกระทำผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐานและสอบสวนทั้งผู้กระทำความผิด กรณีที่เป็นบริษัทจะเรียกผู้มีอำนาจของบริษัทนั้นๆ เข้ามาสอบสวน ส่วนบุคคลทั่วไปจะสืบหาที่อยู่และออกหมายเรียก รวมถึงสอบสวนเจ้าหน้าที่ของ ศรป. ร่วมด้วย
  4. กล่าวคือ ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์มีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคครั้งแรก ให้ กสทช. มีอำนาจสั่งระงับการกระทำดังกล่าว หากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ได้รับคำสั่งให้ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ กสทช. มีอำนาจปรับทางปกครองได้ไม่เกินห้าล้านบาท และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งแสนบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง
  5. โดยการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้หากผู้ประกอบกิจการไม่สามารถให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูล หรือไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานอันเชื่อถือได้ ให้ถือว่าการกระทำนั้น เป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค กระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง ขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาคำขอหรือคำร้องเรียนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 90 วัน ขึ้นอยู่กับเอกสาร หลักฐาน การตรวจสอบและพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
     

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333