บทความสั้น
โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายในบ้าน
Home / บทความสั้น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | มิถุนายน 2564

ในยามที่คนจำนวนมากต้องทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home (WFH) เนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เรากลับต้องเผชิญกับภัยคุกคามอีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี และระบาดสูงสุดในเดือนกรกฎาคม ขณะนี้เข้าหน้าฝนแล้ว ทุกคนจึงต้องระวังภัยร้ายในบ้านชนิดนี้อย่างจริงจัง โรคไข้เลือดออก ในอดีตมักพบในเด็ก แต่ปัจจุบันสามารถพบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่มากขึ้น โดยในปี 2563 มีผู้ป่วยกว่า 70,000 ราย อัตราป่วยราว 106.64 ต่อประชากรแสนคน และมีผู้เสียชีวิต 51 ราย[1] โดยกลุ่มเสี่ยงจากมากไปหาน้อยคือ กลุ่มที่มีอายุ 15-24 ปี, อายุ 25-34 ปี และ 10-14 ปี ตามลำดับ

ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า “ไวรัสเดงกี” (Dengue Virus) ซึ่งติดต่อในคนโดยการถูกยุงลายกัด ทั้งจากยุงลายบ้าน และยุงลายสวน เชื้อไวรัสเดงกีนี้มีระยะฟักตัวในยุงลายประมาณ 8-10 วัน หลังจากที่ถูกยุงกัดจะมีระยะฟักตัวในคนประมาณ 5-8 วัน เชื้อไวรัสเดงกีปัจจุบันมี 4 ชนิด หลังจากติดเชื้อชนิดหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนั้นไปตลอด แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อชนิดอื่นในช่วงสั้นๆ หลังจากนั้นสามารถติดเชื้อชนิดอื่นได้อีก โรคไข้เลือดออกอาจมีอาการไข้อย่างเดียว หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปวดตามตัว ปวดที่กระบอกตา ปวดศีรษะ อาจมีผื่นแดงขึ้น เลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล หรือเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น[2] 

สำหรับในประเทศไทย โรคไข้เลือดออกมักแพร่ระบาดในบ้านและสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น ศาสนสถาน สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงงาน โรงแรม และโรงพยาบาล ดังนั้น การป้องกันโรคไข้เลือดออกที่สำคัญคือการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด และไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยการไม่ให้มีน้ำขังในภาชนะ โดยภาครัฐและชุมชนต่างๆ ได้รณรงค์มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1. เก็บบ้าน ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ 2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3. เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ และเน้นการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง และนอนในมุ้ง โดยจะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลายไปพร้อมกัน[3]


[1] https://www.dndpho.org/attachments/view/?attach_id=267704
[2] https://med.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/04302020-1700
[3] https://gnews.apps.go.th/news?news=80277


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333