บทความสั้น
“ผลักดันนโยบายภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล” รางวัลผลงานเด่นระดับโลกปี 2564 ของกรมอนามัย
Home / บทความสั้น

ทีมวิชาการรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | ธันวาคม 2564

กรมอนามัยได้แถลงว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรางวัลของสหประชาชาติที่มอบให้กับหน่วยงานหรือองค์กรในการประชุม side event ขององค์การสหประชาชาติ ครั้งที่ 76 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ซึ่งรางวัลที่ได้รับคือ รางวัล United Nations Inter-Agency Task Force (UNIATF Award) on the Prevention and Control of Non-communicable Diseases รางวัลดังกล่าว สหประชาชาติจะมอบให้กับหน่วยงานหรือองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นด้านการควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจากทั่วโลก ที่ผลักดันนโยบาย ขับเคลื่อน ควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามกรอบ SDGs

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรางวัลในหมวดภาครัฐด้านสาธารณสุขที่มีผลงานโดดเด่นในการผลักดันนโยบายภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล ลดการบริโภคน้ำตาลในประชากรไทย ซึ่งองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยได้นำผลงานดังกล่าวของกรมอนามัยไปนำเสนอ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ด้านผลการดำเนินนโยบาย และเป็นผู้นำในการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง

ผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนมาตรการจัดเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาวะคนไทยที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลใน 3 ประเด็น ได้แก่ 

  1. ในภาพรวมราคาเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลที่ผลิตในประเทศ และนำเข้ามีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.7 และ 18.1 ตามลำดับ 
  2. เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงมีสัดส่วนลดลง โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 10 กรัม แต่ไม่เกิน  14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร มีสัดส่วนลดลงมากที่สุด 
  3. สัดส่วนรายได้จากภาษีเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิตทั้งหมด

ในส่วนเครือข่ายการทำงานนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนมาตรการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ที่มีส่วนช่วยลดการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และเพิ่มทางเลือกอาหารสุขภาพที่สามารถเข้าถึงและหาซื้อได้ง่ายขึ้นให้กับผู้บริโภค นำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  กินอยู่ให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ในปี 2552 สสส. และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ด้วยความร่วมมือของบุคลากรกรมอนามัยร่วมเป็นแกนนำ ได้ร่วมรณรงค์ขับเคลื่อนสังคมเพื่อลดการบริโภคหวานที่ล้นเกินมาอย่างต่อเนื่อง เช่น 

  1. กฎกระทรวงห้ามเติมน้ำตาลในนมผงสูตรต่อเนื่อง 
  2. การสื่อสารประเด็น “อ่อนหวาน” หรือ “หวานน้อยสั่งได้” 
  3. การขับเคลื่อนนโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม 
  4. มาตรการขอความร่วมมืออุตสาหกรรม ให้ลดขนาดน้ำตาลซองไม่เกิน 4 กรัม 

นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายการทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมสรรพสามิตอย่างเข้มข้น มีการสื่อสารสาธารณะ รวมถึงขับเคลื่อนนโยบายในระดับภาคการเมือง โดยผ่านทางสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่คนไทย

ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2563 พบว่า ประชากรไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลงจาก 283.6 มิลลิลิตร ในปี 2561 เป็น 275.8 มิลลิลิตร ในปี 2562 หรือลดลงร้อยละ 2.8 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีการบริโภคลดลงสูงสุด ร้อยละ 7.2 โดยเครื่องดื่มที่มีการบริโภคลดลงมากที่สุดพบว่า เครื่องดื่มผสมโซดาแบบกระป๋องมีสัดส่วน การบริโภคลดลงมากที่สุด ร้อยละ 17.7 ตามด้วยเครื่องดื่มสมุนไพร ร้อยละ 10.0 และน้ำผลไม้แบบกล่อง ร้อยละ 9.2 ตามลำดับ


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333