10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2549
ท้อง แท้ง ทิ้ง ปัญหาใหญ่ที่ยังไม่มีใครดูแล

ปี 2548 เป็นปีที่มีข่าวทารกหรือเด็กถูกทิ้ง พบซากตัวอ่อนจากการทำแท้ง การทลายคลินิกทำแท้ง รวมถึงการเปิดเผยสถานการณ์และวิธีการทำแท้ง เป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวันอย่างต่อเนื่อง  แต่ดูเหมือนว่า สังคมไทยยังไม่มีการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการ เพื่อที่จะมองปัญหาเหล่านี้อย่างเชื่อมโยงและอ่านทะลุไปให้ถึงยุทธศาสตร์และมาตรการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาเชิงระบบ

ความสุกงอมของปัญหาท้องไม่พร้อม ทำแท้ง ทิ้งเด็ก 

ข้อมูลจากโครงการติดตามสภาวะการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด  พบว่ากรุงเทพมหานครเป็นแชมป์ในเรื่องนี้อัตราที่ทารกถูกทิ้งต่อจำนวนประชากรแสนคนสูงสุดถึง 7.43 ขณะที่อัตราทั่วประเทศอยู่ที่ 2.61 (ดูตาราง) ถ้าพูดเป็นจำนวนตัวเลข สรุปได้ว่าตลอดทั้งปีมีทารกถูกทิ้ง 700-800 คน หรือเฉลี่ยแล้วมีทารกถูกทิ้งวันละ 2 คน  นี่ยังไม่นับรวมข่าวพบซากทารกถูกทิ้งในที่ต่างๆ และข่าวผู้หญิงท้องตกเลือดในห้องน้ำสาธารณะที่สันนิษฐานว่าเกิดจากการพยายามทำแท้งด้วยตัวเอง ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานสถานการณ์เด็กถูกทอดทิ้งระหว่างปี 2546-2547 ว่า ได้ให้การสงเคราะห์เด็กจำนวน 1,975 คน ที่ถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล  หรือทิ้งไว้กับผู้รับจ้างเลี้ยง รวมถึงการทิ้งในที่สาธารณะ

รูปธรรมของปัญหาต่างๆเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์การท้องที่ไม่พร้อมอย่างแยกไม่ออก  หากพิจารณาจากสถิติสำมะโนการตั้งครรภ์ระดับชุมชนที่สำรวจเมื่อปี 2544  โดยโครงการรณรงค์เพื่อสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ พบว่าสังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตของปัญหาท้องที่ไม่พร้อมอย่างหนัก  เพราะจากประวัติการตั้งท้องของผู้หญิงอายุระหว่าง 15-59 ปี ใน 2 ชุมชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ พบว่าในจำนวนท้องทั้งหมดที่นับได้ 2,496 ท้อง จากผู้หญิงที่เคยท้อง 925 คน เป็นการท้องที่ไม่ได้วางแผนสูงถึงร้อยละ 45 ของจำนวนท้องทั้งหมด และในจำนวนท้องที่ไม่ได้วางแผนพบว่ามีอัตราการทำแท้งสูงถึงร้อยละ 16 นอกจากนี้ยังพบว่ามากกว่าครึ่งของผู้หญิงที่ทำแท้งรายงานสาเหตุของการทำแท้งว่าเป็นเพราะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่มอายุที่ทำแท้งมากที่สุดคือ 20-29 ปี

ผู้หญิงที่ทำแท้งมีอายุน้อยลง 

นายแพทย์สุริยะเดว ทรีปาตี  หัวหน้าคลินิกวัยทีน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี  เปิดเผยว่าประมาณร้อยละ 20 ของผู้มาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลมีอายุต่ำกว่า 20 ปี และพบว่าในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีวัยรุ่นมาคลอดลูกถึง 1,200 คนต่อปี โดยวัยรุ่นที่อายุน้อยที่สุดคือ 12 ปี ขณะที่บางคนอายุเพียง13 ปีก็ตั้งท้องเป็นครั้งที่ 2 แล้ว  นอกจากนี้ยังพบพบด้วยว่าเด็กไทยเรียนรู้เพศศึกษาเมื่ออายุ 13.5 ปี ขณะที่นักเรียนชั้นมัธยมปีที่หนึ่งมีแนวโน้มมีเพศสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น โดยไม่มีการใช้ถุงยางอนามัย

ข้อสรุปเรื่องนี้ถูกยืนยันอีกครั้งในปี 2548 นี้โดยผลสำรวจเรื่องพฤติกรรมความรุนแรงและปัญหาเพศศึกษาในกลุ่มอายุ13-18 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ทุกอำเภอทั่วประเทศจำนวนกว่า 2 แสนคน พบว่าอายุเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกลดน้อยลงจริง คือ เริ่มต้นที่อายุ 13 ปี และยังพบมีปัญหา ท้อง-แท้ง-ทิ้ง และเอชไอวี/เอดส์ตามมาเป็นลูกโซ่อีกด้วย ทั้งนี้แพทย์บางส่วนเริ่มพบว่ามีวัยรุ่นที่ตกเลือดและติดเชื้อจากการทำแท้งมารับการรักษาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333