

“บนความเหมือนที่แตกต่าง และความหลากหลายที่ยังคงเหลื่อมล้ำ ใน 10 ประเทศอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีความเข้มแข็ง ระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถ้วนหน้า รวมถึงการส่งเสริมวิถีชีวิตอาเซียนที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy ASEAN Lifestyles) เป็นโจทย์ท้าทายที่สำคัญ”
เพื่อต้อนรับปี 2558 ซึ่งเป็นปีปักหมุดของการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( ASEAN Economic Community หรือ AEC) สุขภาพคนไทย2558 ฉบับนี้ นำ.เสนอ “11 ตัวชี้วัดสุขภาพอาเซียน” ที่สะท้อนสถานการณ์ ทิศทางและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพของประชากรในภูมิภาค พฤติกรรมทางสุขภาพที่สำคัญ รวมถึงปัจจัยกำหนดสุขภาพที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในหลากหลายมิติ ความเข้มแข็งของการพัฒนาระบบบริการทางสุขภาพ โดยเฉพาะในเรื่องการคลังสุขภาพทรัพยากรสาธารณสุขและความเป็นธรรมด้านสุขภาพในแต่ละประเทศสมาชิก
อาเซียนเป็นกลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีความโดดเด่นของความหลากหลายระหว่างประเทศสมาชิกในหลายแง่มุม จำนวนประชากรในอาเซียนรวมกัน คิดเป็นประมาณถึงร้อยละ 9 ของประชากรโลก หลายประเทศยังคงอยู่ในช่วงของการได้รับประโยชน์จากการปันผลทางประชากร (demographic dividend) สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของประชากรวัยกำลังแรงงานเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญและเป็นโอกาสเชิงศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม การคาดประมาณในอีก 20 ปีข้างหน้า ชี้ให้เห็นว่า ทุกประเทศจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะ สิงคโปร์และไทย ที่จะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด มีประชากรสูงอายุ(65 ปีขึ้นไป) ถึงมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรรวมในประเทศ
แม้ในทุกประเทศอาเซียนจะมีอายุคาดเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้น สะท้อนสถานการณ์สุขภาพกายที่ดีขึ้นแต่ความแตกต่างของอายุคาดเฉลี่ยระหว่างประเทศสมาชิกที่ร่ำรวยและประเทศที่ยากจนก็ยังอยู่ในระดับที่สูง อีกทั้งในหลายประเทศ ช่วงอายุของการมีชีวิตอยู่โดยมีสุขภาพไม่เต็มร้อยของประชาชนก็ยังนับว่าค่อนข้างยาวนานโรคติดต่อ อนามัยแม่และเด็กและภาวะโภชนาการเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในประเทศยากจน ขณะที่โรคไม่ติดต่อ กลับเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น ในด้านสุขภาพจิตคนอาเซียนวัยทำงานเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการประสบปัญหาภาวะสุขภาพจิตมากกว่ากลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ รายงาน
ความสุขโลก ปี 2556 ชี้ว่าสิงคโปร์และไทยเป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุด 2 อันดับแรกในอาเซียน แต่ข้อมูล
จากองค์การอนามัยโลกในปี 2557 กลับแสดงให้เห็นว่า2 ประเทศนี้มีอัตราการตายของประชากรจาก
การทำร้ายตนเองสูงที่สุด
การบริโภคยาสูบและแอลกอฮอล์ รวมถึงการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพและมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอยังเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อของประชากรอาเซียนการพัฒนากลไกติดตามและประเมินผลกระทบจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพเหล่านี้ และการจัดตั้งองค์กรกองทุนเพื่อการส่งเสริมสุขภาพจากแหล่งเงินที่มาจากรายได้ภาษีสรรพสามิตบนสินค้าบาปประเภทบุหรี่และเหล้า เป็นข้อเสนอแนะสำคัญที่ประเทศสมาชิกที่ยังไม่มีมาตรการหรือดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ควรพิจารณา
10 ประเทศอาเซียนมีความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำในระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงเป็นโจทย์การพัฒนาที่ยังท้าทายประเทศสมาชิกส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางปัจจุบัน ประชากรเมืองของอาเซียน มีมากกว่า 1 ใน 3ของประชากรทั้งหมด ความเป็นเมืองยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง นำมาสู่ข้อกังวลต่อปัญหาความแออัดและวิถีชีวิตคนเมืองที่กำลังเปลี่ยนไป รวมถึงผลกระทบทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางภูมิอากาศ
ในด้านการคลังทางสุขภาพ 4 ใน 10 ประเทศสมาชิก ได้แก่ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซียและไทย สามารถ
พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองความเสี่ยงจากค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุมถ้วนหน้าแล้ว
ในหลายประเทศยังคงประสบปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึง ข้อจำกัด
ในด้านศักยภาพการผลิตบุคลากรทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ การเคลื่อนย้ายบุคลากรทางสุขภาพระหว่าง
ประเทศที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรต้องติดตามและพิจารณาร่วมกันในกรอบความร่วมมือ
เช่นเดียวกับประเด็นด้านความเป็นธรรมทางสุขภาพซึ่งยังพบว่าเป็นปัญหาในหลายประเทศสมาชิก โดยเฉพาะ
ในเรื่องการเข้าถึงบริการสขุภาพขั้นพื้นฐาน บริการอนามัยแม่และเด็ก รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น น้ำดื่มสะอาดและสาธารณสุขมูลฐาน
ภายใต้แนวคิดของอาเซียนในการสร้างความร่วมมือ สู่ภูมิภาคที่มี “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม”ในช่วงหลังปี 2558 หรือ Post-2015 ความท้าทายและปัญหาทางสุขภาพจะมีลักษณะที่ซับซ้อนและเป็นพลวัตเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาความร่วมมือในระดับภูมิภาคควรตั้งอยู่บนฐานคิดของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)” ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากรทุกคนในภูมิภาค