ลักษณะการเลี้ยงดูที่ต่อพัฒนาการเด็ก
เด็กปฐมวัยใช้เวลาดูโทรทัศน์เฉลี่ย 1.9 ชั่วโมงต่อวัน มีผลต่อภาวะอ้วนและระดับสติปัญญาต่ำ ขณะที่หนังสือ/สมุดภาพควรเป็นสื่อที่ผู้เลี้ยงดูควรให้เด็กได้รับตั้งแต่เล็ก แม้ว่าเด็กยังไม่สามารถอ่านหนังสือออกก็ตาม นอกจากนี้การแสดงความรักด้วยการสัมผัสทางกาย การพูดจาชมเชย มีผลต่อพัฒนาการของเด็กเช่นกัน
ข้อมูลโครงการวิจัยพัฒนาการแบบองค์รวมของเด็กไทย พ.ศ. 2546 แสดงว่า เกือบครึ่งของพ่อแม่ได้ค้นพบความถนัดอย่างใดอย่างหนึ่งของลูกและในจำนวนนี้ร้อยละ 47 ไม่ได้ทำอะไรกับการค้นพบนั้น อย่างไรก็ตามอีกครึ่งหนึ่งได้ส่งเสริมความถนัดด้านนั้นๆของลูกต่อไป
สื่อที่ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับการพัฒนาด้านสติปัญญาของเด็กปฐมวัยที่พบที่สำคัญได้แก่ หนังสือ/สมุดภาพ เทปเพลง เทปนิทาน ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงดูหลักเห็นความสำคัญของการพัฒานาสติปัญญาในเด็กอายุ 3-5 ปีมากกว่าเด็กเล็กอายุ 1-2 ปี ทั้งๆที่การพัฒนาการเรียนรู้สามารถเริ่มได้ตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์
นอกจากสื่อประเภท หนังสือ/สมุดภาพ เทปเพลง เทปนิทานแล้ว โทรทัศน์เป็นสื่ออีกประเภทหนึ่ง ที่ผู้เลี้ยงดูหลักใช้ในการพัฒนาสติปัญญาของเด็กปฐมวัย โดยละครหรือภาพยนตร์ เป็นรายการโทรทัศน์ที่ผู้เลี้ยงดูหลักเลือกให้เด็กโตดูมากกว่าเด็กเล็ก แต่รายการโทรทัศน์ประเภทนี้ส่วนใหญ่ไม่เหมาะกับเด็กปฐมวัย
มีข้อค้นพบว่า การดูโทรทัศน์มีผลต่อการพัฒนาการเด็กปฐมวัย นั่นคือ จำนวนชั่วโมงที่ดูโทรทัศน์มากขึ้นจะทำให้พัฒนาการโดยรวม (DQ) ของเด็กลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนชั่วโมงในการดูโทรทัศน์มีผลต่อภาวะอ้วนในเด็กเช่นกัน
ในทางวิทยาศาสตร์ การที่เด็กมีอารมณ์ดีเนื่องมาจากการหลั่งของสาร Serotonin Dopamine Endorphine ซึ่งสารนี้จะทำให้สามารถเรียนรู้ และมีความจำที่ดีขึ้น และสมองจะเจริญเติบโตดี การหลั่งของสารนี้เกิดจากการออกกำลังกาย การสัมผัสที่อบอุ่น การยิ้มแย้มแจ่มใส การมีความสัมพันธ์ที่ดี การมองตนในแง่ดี การชมเชย การภูมิใจในตนเองทำให้ร่างกายรู้สึกดี และมีภูมิต้านทานสูงขึ้น (สมองกับการเรียนรู้, กมลพรรณ ชีวพันธุศรี ใน
ครอบครัวส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 80 แสดงความรักต่อเด็กปฐมวัยด้วยการสัมผัสทางกาย นั่นคือการกอด นอกจากนี้หากรู้สึกพอใจในการกระทำของเด็ก ผู้เลี้ยงดูร้อยละ 82 จะทำการชมเชยหรือให้รางวัลแก่เด็ก เมื่อไม่พอใจในพฤติกรรมเด็ก ผู้เลี้ยงดูจะใช้วิธีกล่าวตักเตือนสั่งสอน แต่อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 18.5 ใช้วิธีลงโทษทางกายกับเด็ก และร้อยละ 17.2 ใช้วิธีด่า ซึ่งสองวิธีหลังอาจส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ของเด็ก