ผู้สูงอายุ
ราว 1 ใน 10 ของคนไทยเป็นผู้ที่มี่อายุมากกว่า 60 ปี และมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการที่คนไทยมีชีวิตยืนยาวขึ้นกว่าเดิม ทำให้ปัจจุบันมีผู้มีอายุมากกว่า 75 ปีถึง 1 ล้านคน
เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้หญิงอายุยืนมากกว่าผู้ชาย จากการที่ผู้หญิงมีพฤติกรรมสุขภาพและความเสี่ยงต่างๆ ที่นำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรน้อยกว่าผู้ชาย จึงไม่แปลกที่มักพบว่ากิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจะพบผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเสมอ การมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นในขณะที่จำนวนบุตรหลานมีน้อยลงไปเรื่อยๆ อย่างที่เป็นอยู่ในสังคมไทยในขณะนี้ ย่อมมีผลต่อความสามารถของลูกหลานในการอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามชราที่คนไทยยึดถือปฏิบัติมานาน ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งยังคงทำงาน แม้ว่ารายได้เฉลี่ยที่ได้รับไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานต่อไปเพื่อคลายเหงาและมีอะไรทำมากกว่ามุ่งหวังรายได้ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งมีความจำเป็นที่ต้องทำงานต่อไปหลังวัยเกษียนเพื่อการยังชีพแม้จะมีรายได้ไม่มากนัก เรื่องน่าห่วงคือ การที่ผู้สูงอายุกว่า 1 ใน 3 มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ และพบว่าลูกหลานที่เกื้อหนุนให้เงินแก่พ่อแม่สูงวัยนั้นกลับมีน้อยกว่าพ่อแม่สูงวัยที่เป็นผู้ช่วยเหลือด้านการเงินแก่ลูกหลาน ผู้สูงอายุที่ควรจะได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขณะนี้ คือ ผู้ที่เป็นพ่อแม่ของคนวัยทำงานที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคเอดส์
คาดว่าจากปี 2527 จนถึงปัจจุบันมีผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์รวมทั้งสิ้น 550,000คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในวัยทำงานแทบทั้งสิ้น พ่อแม่ของคนกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่จะขาดลูกหลานที่ตนหวังเป็นที่พึ่งให้เลี้ยงดูยามสูงวัยเท่านั้น ส่วนหนึ่งยังรับภาระกลายเป็นผู้ดูแลหลานกำพร้าที่เกิดจากลูกที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีกด้วยเรื่องของผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนไทยควรให้ความสนใจว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้สูงอายุก้าวเข้าสู่วัยทองของชีวิตด้วยความมั่นใจ สามารถดูแลตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ตามอัตภาพ มีรายได้ และมีศักดิ์ศรี