“เรตติ้งทีวี” ภารกิจของผู้ใหญ่เพื่อผู้ชมตัวน้อย

ในยุคที่รายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่ถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความบันเทิงแบบผู้ใหญ่ น่าเป็นห่วงว่าผู้ชมตัวน้อยซึ่งใช้เวลาดูโทรทัศน์ประมาณวันละ 3-5 ชั่วโมง จะโดนห้อมล้อมด้วยสื่อที่เป็นอันตราย และถูกชักนำไปสู่การเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมากขึ้นเรื่อยๆจึงถึงเวลาที่เรตติ้งรายการโทรทัศน์จะก้าวเข้ามาเป็นตัวช่วยของพ่อแม่ผู้ปกครองในการปกป้องเด็กจาก “สาร” ด้อยคุณภาพ พร้อมทั้งกระตุ้นให้ผู้ผลิตเพิ่มปริมาณของรายการสำหรับเด็กและปรับผังรายการออกอากาศในช่วงเวลาที่เหมาะสมกว่าเดิม
นับหนึ่งการจัดระเบียบรายการโทรทัศน์
“เรตติ้ง” (Rating) คือ การจัดหมวดหมู่ของเนื้อหารายการที่เผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์ว่า เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมในช่วงอายุใด ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกว่า 30 ประเทศทั่วโลก อาทิ อังกฤษ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ จีน เวียดนาม มาเลเซีย ฯลฯ ต่างก็ใช้เรตติ้งในการแบ่งประเภทรายการโทรทัศน์กันมานานแล้ว
แต่ผู้ชมโทรทัศน์ทั่วประเทศไทยเพิ่งจะรู้จักกับมันเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2549 หลังจากที่สถานีโทรทัศน์ทุกช่องพร้อมใจกันให้ความร่วมมือกับกองงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) กรมประชาสัมพันธ์ ในการเริ่มต้นทดลองจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ ซึ่งมีการแบ่งประเภทของรายการโทรทัศน์ออกเป็น 7 ประเภทและกำหนดสัญลักษณ์ของรายการโทรทัศน์แต่ละประเภทไว้ ดังนี้
-
รายการสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 2-6 ปี ใช้สัญลักษณ์ “ก” และรูปหน้ายิ้ม
-
รายการสำหรับเด็กอายุ 2-12 ปี ใช้สัญลักษณ์ “ด” และรูปจิ๊กซอว์
-
รายการทั่วไปเหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย ใช้สัญลักษณ์ “ท” และรูปบ้าน
-
รายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำ ใช้สัญลักษณ์ “น” และเครื่องหมายถูกผิด
-
รายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำแก่ผู้ชมอายุน้อยกว่า 13 ปี ใช้สัญลักษณ์ “น 13” และเครื่องหมายถูกผิด
-
รายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำแก่ผู้ชมอายุน้อยกว่า 18 ปี ใช้สัญลักษณ์ “น 18” และเครื่องหมายถูกผิด
-
รายการเฉพาะไม่เหมาะแก่เด็กและเยาวชน ใช้สัญลักษณ์ “ฉ” และรูปฟ้าผ่า
สำหรับช่วงทดลองจัดระเบียบรายการโทรทัศน์นั้น กรมประชาสัมพันธ์มอบหมายให้สถานีโทรทัศน์แต่ละช่องพิจารณาจัดเรตติ้งของแต่ละรายการกันเอง พร้อมกับเปิดโอกาสให้เครือข่ายครอบครัว เด็ก และเยาวชน เข้ามาทำหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจสอบความเหมาะสมของการจัดเรตติ้งโดยสถานีโทรทัศน์ โดยการแสดงความคิดเห็นผ่านระบบเอสเอ็มเอสมายังหมายเลขโทรศัพท์ 024863333 หรือทางอินเตอร์เน็ตที่
หลังจากผ่านก้าวแรกของการทดลองจัดเรตติ้งสื่อโทรทัศน์มาประมาณครึ่งปี คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เปิดเผยผลการการประเมินและรับฟังความคิดเห็นว่า การจัดเรตติ้งของแต่ละสถานียังมีความแตกต่างกัน กรมประชาสัมพันธ์จึงเร่งจัดทำคู่มือจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์กับกลุ่มผู้ชม เพื่อให้แต่ละสถานีใช้เป็นบรรทัดฐานในการจำแนกเนื้อหาและประเมินคุณภาพของรายการโทรทัศน์
ปฏิกิริยาหลากหลายกระแสจากสังคม
ต้นเดือนมิถุนายน 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างคู่มือการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ซึ่งประกอบด้วยใจความสำคัญเกี่ยวกับระบบประเมินคุณภาพเนื้อหา ระบบการจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุ และการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการออกอากาศรายการแต่ละประเภท
หลังจากนั้นไม่เกิน 1 เดือน กลุ่มผู้ผลิตรายการ ผู้จัดละคร และผู้เกี่ยวข้องในแวดวงโทรทัศน์ต่างตบเท้ากันออกมาแสดงความเห็นคัดค้านกับร่างคู่มือฯ ฉบับดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ แต่ไม่เห็นด้วยในประเด็นการใช้เรตติ้งควบคู่กับการกำหนดเวลาออกออกอากาศ
ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้จัดละครชื่อดัง เกรงว่าละครที่ฉายช่วงหลังสองทุ่มจะโดนย้ายไปอยู่ในช่วง 22.00-04.00 น. หากมีฉากตบตีหรือฆ่ากันตาย ขณะที่ประวิทย์ มาลีนนท์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 กังวลถึงปัญหาการแทรกแซงสื่อที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ความคิดของกลุ่มคนที่ทำธุรกิจรายการโทรทัศน์ สวนทางกับความเห็นของผู้ชมโทรทัศน์โดยสิ้นเชิง เมื่อผลการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของเด็ก เยาวชน และผู้ปกครองต่อการจัดเรตติ้งและความรุนแรงในรายการโทรทัศน์ กรณีศึกษาประชาชนอายุ 3 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 2,486 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2550 โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระบุว่ามีประชาชนเห็นด้วยกับการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์มากถึงร้อยละ 88 โดยสัดส่วนของเด็กอายุ 3-12 ปี มากกว่าครึ่งหนึ่งดูทีวีในช่วง 18.01-20.00 น. ขณะที่เด็กอายุ 13-18 ปี มากกว่าครึ่งหนึ่งเช่นกันที่ดูทีวีในช่วง 20.01-22.00 น.